คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง… ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง…” คำว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) นั้น หมายถึงโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 20 ปี แต่โทษจำคุกตามคำพิพากษาก็ยังต่ำกว่าโทษขั้นสูงตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังที่วางโทษจำคุกตลอดชีวิต จึงถือไม่ได้ว่าโทษจำคุกตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษจำคุกตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 600 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 16.518 กรัม ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 20 ปี โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2544 ต่อมาประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2547 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องทำนองว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 กำหนดโทษสำหรับความผิดตามคำพิพากษาเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ขอให้ปรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 600 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 16,518 กรัม ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 20 ปี หลังจากคดีถึงที่สุดแล้วได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน คดีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จะนำกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณมากำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานมีแมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 600 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 16.518 กรัม ในคดีนี้ต้องบทกำหนดโทษในมาตรา 66 วรรคสอง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ซึ่งตามมาตรา 66 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท ส่วนมาตรา 66 วรรคหนึ่งตามกฎหมายเดิม มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท โทษจำคุกขั้นต่ำตามมาตรา 66 วรรคสอง ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณมากกว่าโทษจำคุกตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดเว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง… ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง…” คำว่า โทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) นั้น หมายถึงโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 20 ปี แต่โทษจำคุกตามคำพิพากษาก็ยังต่ำกว่าโทษขั้นสูงตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังที่วางโทษจำคุกตลอดชีวิต จึงถือไม่ได้ว่าโทษจำคุกตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษจำคุกตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share