คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3685/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” ตามคำให้การจำเลยที่ 1 สำนวนแรกและคำให้การจำเลยที่ 2 สำนวนที่สอง มีข้อความระบุชัดว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี แล้ว แต่โจทก์มิได้ฟ้องขับไล่ภายในกำหนดเวลาปีหนึ่งนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยกเอาเรื่องแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทและโจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในปีหนึ่งขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นในคำให้การแล้ว
จำเลยที่ 2 แสดงเจตนาอันชัดแจ้งเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์โดยประสงค์จะแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท (ส.ค.1) นับแต่มีการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินเป็นต้นมา จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในปีหนึ่งนับแต่นั้น โจทก์ก็ย่อมขาดสิทธิฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 323/2539 ของศาลชั้นต้น โดยเรียกจำเลยในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 เรียกผู้ร้องสอดในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนที่สองว่าจำเลยที่ 2 และเรียกจำเลยในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 323/2539 ว่าจำเลยที่ 3 แต่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 323/2539 ถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแต่เฉพาะคดีสองสำนวนนี้
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 102 หมู่ที่ 1 ตำบลบางนอน อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหาย 500,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย 300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากค่าเสียหายแต่ละจำนวนนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ในสำนวนแรกนายช่วง จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ให้นางจาบ จำเลยที่ 1 ครอบครองดูแลแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดโดยขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนแรก 10,000 บาท สำนวนทั้งสอง 8,000 บาท
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม นายวัชระ ทายาทของจำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทที่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 102 ดังกล่าว ห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย 24,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหาย 15,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยแต่ละคนต้องชำระแก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนแรกรวม 12,000 บาท สำนวนที่สองรวม 10,000 บาท ให้ยกคำร้องสอดค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอด (จำเลยที่ 2) ในสำนวนแรกให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาในข้อแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจนได้สิทธิครอบครอง และโจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครองที่ดินนั้นเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า “…ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” ซึ่งมีความหมายว่า ในกรณีที่จำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีจำเลยต้องกล่าวในคำให้การให้ชัดเจนว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องเพราะเหตุใด หากคำให้การของจำเลยมีข้อความกำกวมไม่ชัดแจ้งหรือมีความหมายหลายนัยที่ขัดแย้งกันเอง ย่อมเป็นคำให้การที่ไม่ชอบและไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี คำให้การของจำเลยที่ 1 สำนวนแรก ข้อ 6 และคำให้การจำเลยที่ 2 สำนวนที่สอง ข้อ 5 มีข้อความระบุชัดว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี แล้ว แต่โจทก์มิได้ฟ้องขับไล่ภายในกำหนดเวลาปีหนึ่งนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยกเอาเรื่องแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทและโจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในปีหนึ่งขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นในคำให้การแล้ว แม้ในข้อ 3. และข้อ 4. ของคำให้การทั้งสองฉบับดังกล่าวจะมีข้อความว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เนื่องจากโจทก์ขายที่ดินพิพาทให้แก่บริษัทแอลูเวียลทิน (ไทย) จำกัด และต่อมาบริษัทแอลูเวียลทิน (ไทย) จำกัด ได้ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทไซมิสทินซินดิเกต จำกัด แล้ว และในระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 ได้เข้าจับจองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทติดต่อกันมาถึงปัจจุบันจนได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งฉบับ โดยตลอดแล้วเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยแย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าวมาจากบริษัทไซมิสทินซินดิเกต จำกัด ผู้ซื้อที่ดินจากบริษัทแอลูเวียลทิน (ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินจากโจทก์ และโจทก์หรือบริษัทแอลูเวียลทิน (ไทย) จำกัด และบริษัทไซมิสทินซินดิเกต จำกัด ไม่ได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินนั้นภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครอง อันเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้วต่อมาโจทก์ขายให้แก่บริษัทแอลูเวียลทิน (ไทย) จำกัด และต่อมาบริษัทแอลูเวียลทิน (ไทย) จำกัด ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทไซมิสทินซินดิเกต จำกัด หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้เข้าแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากบริษัทดังกล่าวจนได้สิทธิครอบครองในที่ดินนั้นหาใช่เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยแย่งการครอบครองที่ดินของตนเองดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เข้าใจไม่ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในเรื่องแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากบริษัทแอลูเวียลทิน (ไทย) จำกัด และบริษัทไซมิสทินซินดิเกต จำกัด เป็นเพียงการกล่าวถึงที่มาแห่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ที่ดินพิพาทมาด้วยวิธีการใดเท่านั้น ไม่ขัดแย้งกับข้ออ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาแต่ประการใด กรณีต้องถือว่ามีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 แย่งการครอบครองที่ดินพิพาท และโจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองหรือไม่
ส่วนปัญหาว่า โจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2526 โจทก์มอบอำนาจให้พยานไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระนองขอออกโฉนดที่ดินในปี 2528 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระนองสั่งให้ช่างรังวัดไปสำรวจรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 กับนางหนู ภริยาของจำเลยที่ 2 ไปคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 กับนางหนู ซึ่งครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2507 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระนองตรวจสอบเรื่องราวการขอออกโฉนดที่ดินแล้วมีคำสั่งยกเลิกเรื่องราวการรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าวเสีย เนื่องจากที่ดินที่โจทก์ขอออกโฉนดมีพื้นที่ทับคาบเกี่ยวกับที่ดินตามประทานบัตรของบริษัทงานทวีพี่น้อง จำกัด ดังนี้ กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 แสดงเจตนาอันชัดแจ้งเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์โดยประสงค์จะแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่มีการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินเป็นต้นมา จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในปีหนึ่งนับแต่นั้นโจทก์ย่อมขาดสิทธิฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง
พิพากษากลับให้ยกฟ้องทั้งสองสำนวน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.

Share