คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 มีองค์ประกอบความผิดที่เป็นสาระสำคัญ 2 ประการ ข้อแรก สาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดอยู่ที่ตัวเครื่องหมายการค้าว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงหรือเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายไม่เคยอนุญาตให้ผู้ใดทำกล่องที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย เครื่องหมายการค้าบนกล่องจึงมิใช่เครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายแต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อฟังว่าเครื่องหมายการค้าบนกล่องมิใช่เครื่องหมายการค้าที่แท้จริงและจำเลยเสนอจำหน่ายสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเข้าองค์ประกอบประการแรกของความผิดฐานนี้แล้ว สำหรับองค์ประกอบความผิดข้อที่สอง เป็นสินค้าตามจำพวกที่จดทะเบียนไว้ เมื่อสินค้าตามวัตถุพยานเป็นหน่วยประมวลผลกลางของคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าจำพวก 9 ตรงตามสินค้าที่ผู้เสียหายจดทะเบียนไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา แม้จะมีข้อความบนฉลากในกล่องระบุว่าอุปกรณ์ในกล่องประกอบด้วยหน่วยประมวลผลกลางของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ระบายความร้อนประสิทธิภาพสูง แต่หน่วยประมวลผลกลางจะมีพัดลมเป็นส่วนหนึ่งของสินค้า ซึ่งมีความสำคัญและพัดลมเป็นส่วนควบของหน่วยประมวลผลกลาง ดังนั้น พัดลมระบายความร้อนจึงเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของหน่วยประมวลผลกลาง มิใช่เป็นสินค้าที่ประสงค์จะแยกขายต่างหาก การที่จำเลยเสนอขายพัดลมระบายความร้อนที่ไม่ได้ผลิตโดยผู้เสียหายพร้อมกับหน่วยประมวลผลกลางในลักษณะทำให้ผู้ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้เสียหาย จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273, 275, 32, 33 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 109, 110, 115 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (2) (ที่ถูกมาตรา 110 (1)) ประกอบมาตรา 109 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (2) (ที่ถูกมาตรา 110 (1)) ประกอบมาตรา 109 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 4,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า AMD ซึ่งจดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ” ” ซึ่งจดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรในสินค้าจำพวก 9 รายการค้า หน่วยประมวลผลกลางของคอมพิวเตอร์ ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของจำเลยพร้อมยึดสินค้าหน่ายประมวลผลกลางของคอมพิวเตอร์จำนวน 12 ชุด และกล่องสำหรับบรรจุสินค้า 21 กล่อง เป็นของกลาง ของกลางบางส่วนปรากฏตามกล่องเปล่าหมาย วจ.1 และสินค้าพร้อมกล่องหมาย วจ.2 โดยวัตถุพยานหมาย วจ.1 มีลักษณะเป็นกล่องพลาสติกใส ภายในบุด้วยฉลากที่มีตราเครื่องหมายการค้า 2 แผ่น ฉลากแผ่นแรกแสดงอยู่ด้านหน้ากล่องมีตราเครื่องหมายการค้า AMD ฉลากแผ่นที่ 2 แสดงอยู่ด้านหลังกล่อง มีตราเครื่องหมายการค้า สำหรับวัตถุพยานหมาย วจ.2 เป็นกล่องพลาสติกใสพร้อมฉลากเหมือนกับวัตถุพยานหมาย วจ.1 และมีสินค้าบรรจุภายในกล่อง 2 ชิ้น คือ หน่วยประมวลผลกลางคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีตราเครื่องหมายการค้า AMD ติดอยู่บนชิ้นสินค้า และพัดลมระบายความร้อนซึ่งมีตราเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นติดอยู่
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยมีความผิดฐานเสนอจำหน่าย มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักร และเป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรหรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้นำตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทแอดวานซ์ด ไมโครดิไวเซส อิงค์ ผู้เสียหาย มานำสืบว่า ผู้เสียหายมีตัวแทนจำหน่ายสินค้ากี่รายและตัวแทนได้รับอนุญาตให้ออกแบบกล่องบรรจุสินค้าได้เองได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าวัตถุพยานหมาย วจ.1 และ วจ.2 เป็นของปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายรุธร นพคุณ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายเบิกความว่า วัตถุพยานหมาย วจ.1 และ วจ.2 ผู้เสียหายไม่ได้อนุญาตให้ผู้อื่นทำขึ้นทั้งกล่องและตัวสินค้า กับมีนายพีรพล แก้วด้วง ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหาย เบิกความว่า สินค้าปลอมที่พบที่ร้านจำเลยแตกต่างกับสินค้าของแท้ตามวัตถุพยาน วจ.3 ตัวแทนจำหน่ายสินค้าของผู้เสียหายแจ้งว่าจำหน่ายสินค้าของผู้เสียหายตามรูปแบบบรรจุหมาย วจ.3 ซึ่งเป็นการขายหน่ายประมวลผลกลาง พัดลมและแผ่นระบายความร้อนรวมกันเป็นชุด กล่องที่บรรจุสินค้าหรือหีบห่อมีแบบเดียวคือตาม วจ.3 และผู้เสียหายยืนยันว่าไม่ได้อนุญาตให้จำเลยผลิตสินค้าหรือกล่องบรรจุสินค้าตามวัตถุพยานหมาย วจ.1 และ วจ.2 ส่วนจำเลยมิได้นำสืบว่าได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายให้จำหน่ายสินค้าของกลาง คงนำสืบลอยๆ เพียงว่าซื้อของกลางจากบริษัทไมโครชิบ จำกัด ทั้งยังเบิกความตอบอัยการโจทก์ตามค้านว่า จำเลยเปิดร้านขายอุทธรณ์คอมพิวเตอร์มา 7 ปี ถึง 8 ปี ในวันเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้แสดงหลักฐานการซื้อสินค้าของกลางจากบริษัทไมโครชิบ จำกัด ให้นายพีรพลและเจ้าพนักงานตำรวจดู พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงฟังได้ว่า จำเลยรู้ว่าผู้เสียหายมิได้อนุญาตให้ผู้ใดรวมถึงจำเลยทำขึ้นซึ่งวัตถุพยาน วจ.1 และ วจ.2 วัตถุพยานดังกล่าวจึงเป็นสินค้าที่มีตราเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า พัดลมระบายความร้อนมิใช่สินค้าจำพวก 9 ที่ผู้เสียหายจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองนั้น เห็นว่า ความผิดฐานเสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ตามฟ้องมีองค์ประกอบความผิดที่เป็นสาระสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก มีการเสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ประการที่สอง สินค้าที่จำหน่ายเป็นสินค้าตามจำพวกที่จดทะเบียนไว้
สำหรับองค์ประกอบความผิดข้อแรกที่ว่า มีการเสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า สาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดอยู่ที่ตัวเครื่องหมายการค้าว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงหรือเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำเบิกความของนายรุธร นพคุณ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายไม่เคยอนุญาตให้ผู้ใดทำกล่องที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายตามวัตถุพยานหมาย วจ.2 รายละเอียดที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น เครื่องหมายการค้าบนกล่อง วจ.2 จึงมิใช่เครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหาย แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อฟังว่าเครื่องหมายการค้าบนกล่อง วจ.2 มิใช่เครื่องหมายการค้าที่แท้จริงและจำเลยเสนอจำหน่ายสินค้า วจ.2 โดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเข้าองค์ประกอบประการแรกของความผิดฐานนี้แล้ว
สำหรับองค์ประกอบความผิดข้อที่สองว่า สินค้าที่จำหน่ายเป็นสินค้าจำพวกที่จดทะเบียนไว้หรือไม่ เห็นว่า สินค้าตามวัตถุพยานหมาย วจ.2 เป็นหน่วยประมวลผลกลางของคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าจำพวก 9 ตรงตามจำพวกสินค้าที่ผู้เสียหายจดทะเบียนไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.1 แม้จะมีข้อความบนฉลากในกล่อง วจ.2 ระบุว่าอุปกรณ์ในกล่องประกอบด้วยหน่วยประมวลผลกลางของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ระบายความร้อนประสิทธิภาพสูงแต่ก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายรุธรว่า หน่ายประมวลผลกลางจะมีพัดลมเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าซึ่งมีความสำคัญและพัดลมเป็นส่วนควบของหน่วยประมวลผลกลาง ดังนั้น พัดลมระบายความร้อนจึงเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของหน่วยประมวลผลกลางมิใช่เป็นสินค้าที่ประสงค์จะแยกขายต่างหากจากหน่วยประมวลผลกลางแต่อย่างใดดังปรากฏตามวัตถุพยานหมาย วจ.2 ซึ่งบรรจุหน่วยประมวลผลกลางและพัดลมระบายความร้อนไว้ในกล่องเดียวกันโดยใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกันบนกล่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์จะขายพัดลมระบายความร้อนเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยประมวลผลกลาง สินค้าที่จำเลยเสนอจำหน่ายจึงเป็นสินค้าจำพวก 9 ตรงตามที่ผู้เสียหายจดทะเบียนไว้แล้ว การที่จำเลยเสนอขายพัดลมระบายความร้อนที่ไม่ได้ผลิตโดยผู้เสียหายพร้อมกับหน่วยประมวลผลกลางในลักษณะทำให้ผู้ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share