คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดก็ตาม แต่หากคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องเพื่อให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวได้ คดีนี้โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสี่เครื่องหมายเป็นเครื่องหมายประเภทรูปร่างและรูปทรงของวัตถุ และมีลักษณะทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าอื่น ทั้งได้ใช้และโฆษณาแพร่หลายทั่วไปมานานจึงมีลักษณะบ่งเฉพาะ เท่ากับโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสี่คำขอเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้และการใช้สิทธิทางศาลในกรณีเช่นนี้ ไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ หรือในกฎหมายอื่นบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ได้แม้การยื่นฟ้องคดีนี้จะยื่นเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า

ย่อยาว

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสี่สำนวนเข้าด้วยกัน
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 154/2545, 153/2545, 158/2545 และ 159/2545 ทั้งให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเพื่อรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 427425, 427424, 432225 และ 432226 ต่อไป
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสี่สำนวนให้การว่า คำสั่งของนายทะเบียนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วและการอุทธรณ์ต่อศาลต้องกระทำภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 38 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 154/2545, 153/2545, 158/2545 และ 159/2545 ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเพื่อรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 427425, 427424, 432225 และ 432226 ทั้งนี้ โดยให้กำหนดการแสดงปฏิเสธสิทธิตามมาตรา 17 และการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ตามที่เห็นสมควร
จำเลยทั้งสองทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อแรกว่าโจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ทั้งโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดก็ตาม แต่หากคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องเพื่อให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวได้ คดีนี้ โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ยืนตามคำปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสี่เครื่องหมาย โดยให้เหตุผลว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสี่เครื่องหมายเมื่อนำมาใช้ตามที่ยื่นขอจดทะเบียนนับเป็นรูปที่บรรยายถึงตัวสินค้าและเป็นเครื่องหมายอันไม่มีลักษณะที่ทำให้ประชาชนทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่น จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ โจทก์เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสี่เครื่องหมายเป็นเครื่องหมายประเภทรูปร่างและรูปทรงของวัตถุ และมีลักษณะทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าอื่น ทั้งได้ใช้และโฆษณาแพร่หลายทั่วไปมานานจึงมีลักษณะบ่งเฉพาะ เท่ากับโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสี่คำขอเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาล เพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้และการใช้สิทธิทางศาลในกรณีเช่นนี้ ไม่มีบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือในกฎหมายอื่นบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ได้แม้การยื่นฟ้องคดีนี้จะยื่นเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อมาว่า เครื่องหมายการค้าทั้ง 4 คำขอของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 427425 และคำขอเลขที่ 427424 ที่เป็นเครื่องหมายการค้ารูปที่จุดบุหรี่ เพื่อใช้กับสินค้าประเภทที่จุดบุหรี่ กล้องสูบซิการ์ และกล้องสูบบุหรี่ กับคำขอเลขที่ 432225 และคำขอเลขที่ 432226 ที่เป็นเครื่องหมายการค้ารูปปากกาเพื่อใช้กับสินค้าประเภท ปากกา ดินสอ นั้น มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาเครื่องหมายทั้งสี่คำขอที่โจทก์ขอจดทะเบียนคือรูปไฟแช็ก J1 (แบบจุดคล้ายประกายไฟ) ตาม และรูปไฟแช็ก J8 (แบบอิเล็กทรอนิกส์) ตาม กับเครื่องหมายรูปปากกา BIC คริสตัล ตาม และปากกา BIC 4 สี ตาม จะเห็นได้ว่าในส่วนของรูปทรงไฟแช็กทั้ง 2 แบบ คือ J1 และ J8 ก็มีรูปทรงเป็นไฟแช็กโดยทั่วไป แม้โจทก์จะอธิบายถึงรายละเอียดอื่น อาทิ J1 มีฝาครอบเป็นสามเหลี่ยม หรือ J8 มีรูระบายอากาศ 4 รู เป็นต้น แต่รายละเอียดดังกล่าวก็ไม่เด่นหรือมีลักษณะพิเศษเพียงพอให้เห็นว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะที่จะทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่ามีความแตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันของรายอื่น ในทำนองเดียวกันรูปทรงปากกาทั้งแบบ BIC คริสตัล และ BIC สี่สี ก็มีลักษณะการใช้งานและรูปทรงเช่นเดียวกับสินค้าปากการายอื่นๆ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดอยู่แล้ว เพราะแม้แบบ BIC สี่สี ที่มีไส้ปากกาหลายสีรวมอยู่ในด้ามเดียวกัน แต่การใช้งานก็เป็นการใช้ทีละไส้ปากกา ซึ่งมีวิธีใช้ไม่ต่างจากปากกาที่มีไส้เพียงอันเดียวแม้แต่ด้ามหนีบก็เหมือนกับสินค้าปากการายอื่นที่ทำไว้เสียบกับเสื้อส่วนการมีปุ่ม 4 ปุ่ม ไว้สำหรับกดเวลาเปลี่ยนไส้ปากกาแต่ละสีก็ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยสรุป เครื่องหมายการค้าตามรูปทรงที่ขอจดทะเบียนทั้งสี่คำขอของโจทก์ มิได้มีการดัดแปลงหรือตกแต่งจนไม่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบหรือเข้าใจว่ารูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุดังกล่าวเป็นตัวสินค้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งผู้บริโภคยังคงรู้ว่าสินค้าของโจทก์เป็นไฟแช็ก และปากกา คำขอจดทะเบียนทั้งสี่คำขอจึงขาดลักษณะบ่งเฉพาะในตัวของ (Inherent Distinctiveness) ส่วนปัญหาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะด้วยการใช้ โดยมีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาแพร่หลายในประเทศไทย จนทำให้สาธารณชนรู้จักและยอมรับว่าสินค้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าประเภทเดียวกันของรายอื่นอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า แม้นายเจโรม บุสเคล พยานโจทก์จะเบิกความว่าสินค้าของโจทก์มีจำหน่ายแพร่หลายมานับหลายล้านหน่วย มีการลงโฆษณาอย่างต่อเนื่อง เครื่องหมายการค้ารูปทรงสินค้าไฟแช็กและปากกาที่โจทก์ขอจดทะเบียนมีการจำหน่ายแพร่หลายในประเทศไทยประมาณ 20 ถึง 30 ปี มาแล้ว แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าสินค้าของโจทก์ ได้มีการจำหน่ายเผยแพร่หรือลงโฆษณาแพร่หลายต่อเนื่องมาจนถึงขณะโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสี่คำขอนี้ เอกสารการใช้เครื่องหมายการค้าที่โจทก์อ้างส่งนายเจโรมก็รับว่าเป็นเอกสารการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ในต่างประเทศทั่วโลกยกเว้นประเทศไทย จึงฟังไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสี่คำขอของโจทก์ได้มีจำหน่ายแพร่หลายหรือมีการโฆษณาจนแพร่หลายในประเทศไทยแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสี่คำขอจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะด้วยการใช้ ดังนั้นที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าลงมติไม่รับจดทะเบียนตามคำขอทั้งสี่ของโจทก์โดยให้เหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสี่เครื่องหมาย ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ จึงชอบแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้านั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำนวน

Share