แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในวันสืบพยานจำเลยแต่ละนัด จำเลยนำพยานเข้าสืบครั้งละ1 ปาก คงมีการสืบพยาน 2 ปากเพียงครั้งเดียว และเลื่อนไปขอสืบพยานประเด็นอีกหลายปาก ซึ่งรวมพยาน 2 ปาก ที่ศาลชั้นต้นงดสืบด้วยศาลที่รับประเด็นไม่ได้สืบเพราะจำเลยไม่ไปศาล เมื่อส่งประเด็นคืนจำเลยขอเลื่อนคดีและแถลงรับรองว่าถึงวันนัดจำเลยไม่มีพยานมาสืบก็จะไม่ติดใจสืบ พอถึงวันนัดจำเลยไม่สามารถนำตัวพยานมาสืบได้ศาลชั้นต้นสอบจำเลยแล้วเห็นว่า พยานที่จำเลยจะขอสืบเป็นพยานแวดล้อมไม่ใช่ประเด็นหลักไม่เสียเปรียบในการต่อสู้คดี จึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานทั้งสองปาก ตามเหตุผลดังกล่าวพอถือได้ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจงดสืบพยาน 2 ปากดังกล่าวจึงชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารสิทธิเป็น3 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 โดยปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ด้วยนั้นเห็นว่า เมื่อผิดบทเฉพาะตามมาตรา 265 แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบททั่วไปตามมาตรา 264 อีก เอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) หมายถึงเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ แต่ใบเสนอราคาเป็นเพียงคำเสนอที่จะขายหินให้แก่โจทก์ร่วมยังไม่แน่ว่าโจทก์ร่วมจะตกลงซื้อหินหรือไม่ ใบเสนอราคาดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิ มิใช่เอกสารสิทธิตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) การกระทำของจำเลยซึ่งปลอมใบเสนอราคาและใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม คงเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 850,000 บาท แก่โจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมได้ถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยใช้เงินคืนแก่โจทก์ร่วม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,265, 268, 341, 83, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 900,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทบุญเยี่ยมและสหาย จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 วรรคแรก, 265, 268 วรรคสอง, 341, 83, 91 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265 อันเป็นบทหนัก และให้เรียงกระทงลงโทษโดยให้ลงโทษจำเลยกระทงละ 2 ปี รวม 3 กระทงเป็นโทษจำคุก 6 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 900,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 850,000บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ไม่คัดค้าน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดดังกล่าวจึงระงับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174วรรคสี่ บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าศาลควรจะสั่งงดสืบพยานที่จะต้องสืบต่อไปหรือไม่ ข้อที่จำเลยจะขอสืบเป็นเรื่องปลายเหตุไม่เกี่ยวกับประเด็นโดยตรงว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ตามรูปคดีจึงไม่จำเป็นต้องสืบพยานดังกล่าว ประกอบกับได้ความว่าศาลนัดสืบพยานจำเลยครั้งแรกวันที่ 3 มีนาคม 2532 จำเลยขอเลื่อนการสืบพยานไปหลายครั้งในวันสืบพยานจำเลยแต่ละนัด จำเลยนำพยานเข้าสืบครั้งละ 1 ปาก คงมีการสืบพยาน 2 ปาก เพียงครั้งเดียว และเลื่อนไปขอสืบพยานประเด็นอีกหลายปากซึ่งรวมพยาน 2 ปาก ที่ศาลชั้นต้นงดสืบด้วย ศาลที่รับประเด็นไม่ได้สืบเพราะจำเลยไม่ไปศาล เมื่อส่งประเด็นคืน จำเลยขอเลื่อนและแถลงรับรองว่าถึงวันนัดจำเลยไม่มีพยานมาสืบก็จะไม่ติดใจสืบ พอถึงวันนัดจำเลยไม่สามารถนำตัวพยานมาสืบได้ ศาลชั้นต้นสอบจำเลยแล้วเห็นว่า พยานที่จำเลยจะขอสืบเป็นพยานแวดล้อมไม่ใช่ประเด็นหลักไม่เสียเปรียบในการต่อสู้คดีจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานทั้งสองปาก ตามเหตุผลดังกล่าวพอถือได้ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจงดสืบพยานจำเลย 2 ปากดังกล่าวจึงชอบแล้ว
แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารสิทธิเป็น 3 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265โดยปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ด้วยนั้น เห็นว่าเมื่อผิดบทเฉพาะตามมาตรา 265 แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบททั่วไปตามมาตรา 264 อีก ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าใบเสนอราคาเอกสารหมายจ.5 มีข้อความมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อซึ่งสิทธิและมีข้อความชัดเจนแน่นอนมีลักษณะเป็นคำเสนอจึงเป็นเอกสารสิทธินั้น เห็นว่า “เอกสารสิทธิ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(9) หมายถึงเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลงโอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ แต่ใบเสนอราคา เอกสารหมาย จ.5 เป็นเพียงคำเสนอที่จะขายหินให้แก่โจทก์ร่วมยังไม่แน่ว่าโจทก์ร่วมจะตกลงซื้อหินหรือไม่ ใบเสนอราคาดังกล่าว จึงมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิ มิใช่เอกสารสิทธิตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9)การกระทำของจำเลยซึ่งปลอมเอกสารหมาย จ.5 และใช้เอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม คงเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 วรรคสองและที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี นั้น เนื่องจากโจทก์ร่วมได้ถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงและขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาและขอให้รอการลงโทษในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมเห็นว่าพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง ประกอบกับโจทก์ร่วมไม่ติดใจให้จำเลยต้องรับโทษ จึงเห็นสมควรวางโทษให้เบาลง และเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงรอการลงโทษให้
อนึ่ง ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน850,000 บาท แก่โจทก์ร่วมนั้น เนื่องจากโจทก์ร่วมได้ถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยใช้เงินคืนแก่โจทก์ร่วม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรกลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ตามมาตรา 268 วรรคสอง กระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี และจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 265ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสองเป็น 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมเป็นจำคุก 3 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม