คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5479/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แปลงหนึ่งมี น.ส.3 อีกแปลงหนึ่งไม่มีหนังสือเอกสารสิทธิ โดยได้มาจากการให้ต่างตอบแทนจาก ป. และจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้เงินยืม โจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครอง โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ส่วนจำเลยที่ 1 ก็หมดสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวตามมาตรา 1378 การที่จำเลยที่ 1 ยังคงมีชื่อใน น.ส.3 มีผลให้จำเลยที่ 1 ยังได้รับคำรับรองของทางราชการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ และจำเลยที่ 1 ยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายในฐานะที่มีชื่อในทะเบียนที่ดินว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373สิทธิของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับตามกฎหมายจึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ตามความเป็นจริงโดยตรง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้อง ขอให้เพิกถอนชื่อของจำเลยที่ 1 ออกจาก น.ส.3 ได้ กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการโต้แย้งตัวทรัพย์ คือ ที่ดินที่ครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองตาม น.ส.3 ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยกระทำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยที่ 2 ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวตาม น.ส.3 ซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิครอบครองของโจทก์โดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 20 หมู่ที่ 1 เนื้อที่ 12 ไร่ และไม่มีเอกสารสิทธิอีก 32 ไร่เศษ ได้มาโดยการให้ต่างตอบแทนจากนางปาน คำโคกกรวด และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีและเป็นผู้จัดการมรดกของนางปานเพื่อชำระหนี้เงินยืม โจทก์ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาตลอดด้วยเจตนาเป็นเจ้าของและโดยความสงบและโดยเปิดเผยหามีผู้ใดโต้แย้งไม่ เมื่อประมาณปี 2531 จำเลยที่ 1สมคบกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวข้างต้นเป็นของจำเลยที่ 2 โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 ผัดผ่อนเรื่อยมา ขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายหากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า คำฟ้องปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเข้าไปรบกวนการครอบครองหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้อง ค่าขึ้นศาลให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยทั้งสองไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้

โจทก์ฎีกา

ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ขอให้เรียกจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งเนื้อที่ 44 ไร่เศษ มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 20 หมู่ที่ 1 เนื้อที่ 12 ไร่ และไม่มีหนังสือเอกสารสิทธิเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ โดยได้มาจากการให้ต่างตอบแทนจากนางปานและจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้เงินยืม โจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมาจะเห็นได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของจำเลยที่ 1 โต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์แล้วเพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์เข้าครอบครอง โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ส่วนจำเลยที่ 1 ก็หมดสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว ตามมาตรา 1378 แต่การที่จำเลยที่ 1 ยังคงมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าวก็มีผลให้จำเลยที่ 1ยังได้รับคำรับรองของทางราชการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ ซึ่งก็มีความหมายว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครอง และจำเลยที่ 1 ยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายในฐานะที่มีชื่อในทะเบียนที่ดินว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามมาตรา 1373 ดังนั้น สิทธิของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับตามกฎหมายทั้งสองฉบับดังที่กล่าวมาจึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ตามความเป็นจริงโดยตรง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อของจำเลยที่ 1 ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ได้ กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการโต้แย้งตัวทรัพย์ คือ ที่ดินที่ครอบครอง เพราะไม่มีการเข้าครอบครองที่ดินอันจะเป็นการแย่งการครอบครองตามมาตรา 1375 แต่เป็นการโต้แย้งการแสดงออกซึ่งสิทธิครอบครองตามความเป็นจริง แม้ตามคำฟ้องไม่ระบุชัดเจนว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงที่จะไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ อันจะมีผลให้โจทก์ไม่สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ในเรื่องการบังคับตามสัญญาได้ก็ตามแต่ตามคำฟ้องเป็นเรื่องผลของกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม การโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ปรากฏให้เห็นเด่นชัดยิ่งเมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยกระทำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติ มาตรา 4 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินที่มีผลตามกฎหมายทั้งสองฉบับตามที่กล่าวมาข้างต้นว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าว โอนสิทธิครอบครองดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยชอบ และจำเลยที่ 2 ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงผลอันนี้ที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิครอบครองของโจทก์โดยตรง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องของโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

พิพากษากลับ ให้รับฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่

Share