แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 71 ในการควบคุมดูแลเทศบาลโจทก์ที่ 1 เท่านั้น โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 หรือมีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำละเมิดแก่โจทก์ที่ 1 ได้ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 39 เพียงกำหนดให้คณะเทศมนตรีรับผิดชอบบริหารกิจการของเทศบาลโจทก์เท่านั้นมิได้บัญญัติให้คณะเทศมนตรีร่วมรับผิดกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ยักยอกเงินของโจทก์ คณะเทศมนตรีจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อได้ปล่อยปละละเลย หรือประมาทเลินเล่ออันวิญญูชนที่กระทำในหน้าที่และฐานะเช่นนั้นทำให้เกิดการยักยอกเงินดังกล่าวเท่านั้น
ย่อยาว
เทศบาลเมืองขอนแก่นโจทก์ที่ 1 และผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น โจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 20ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 5,201,635.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยแต่ละคนร่วมรับผิดในเงินต้นแต่ละจำนวนพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 17 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 6 ถึงที่ 16 ที่ 18 ถึงที่ 20 ให้การเป็นใจความว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 9 และที่ 20 ถึงแก่กรรมโจทก์ทั้งสองขอให้เรียกนายเชวงศักดิ์ ไพจิตร ทายาทของจำเลยที่ 9เข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 9 และนายชัยณรงค์ โชไชยผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 20 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 20 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 20 ร่วมกันใช้เงิน 3,180,471.49 บาท แก่โจทก์ที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดจำนวน 295,828.25 บาท จำเลยที่ 1 กับที่ 2รับผิดจำนวน 193,160.27 บาท จำเลยที่ 1 กับที่ 20 รับผิดจำนวน 2,058,019.93 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 20 รับผิดจำนวน 254,449 บาท จำเลยที่ 2 กับที่ 20 รับผิดจำนวน 37,327.34 บาท จำเลยที่ 3 รับผิดจำนวน 247,033.25 บาท จำเลยที่ 5 รับผิดจำนวน 1,410 บาท และจำเลยที่ 5 กับที่ 20 รับผิดจำนวน 93,243.45 บาท คำขออื่นของโจทก์ที่ 1 ให้ยกและยกฟ้องโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 20 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,177,291.06 บาทแก่โจทก์ที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดจำนวน 4,693,036.27 บาทจำเลยที่ 2 รับผิดจำนวน 122,843.09 บาท จำเลยที่ 3 รับผิดจำนวน 266,758.25 บาท และจำเลยที่ 5 รับผิดจำนวน 94,653.45 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 20 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสองฎีกาในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 2 และความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 4และที่ 6 ถึงที่ 20 เห็นว่า สำหรับประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 2 นั้น แม้โจทก์ที่ 1 จะเป็นเทศบาลเมืองขอนแก่นโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 71 บัญญัติว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจควบคุมดูแลเทศบาลให้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย กับทั้งให้มีหน้าที่แนะนำตักเตือนเทศบาลและตรวจสอบกิจการ เรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใด ๆจากเทศบาลมาตรวจสอบ ตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้ แต่เมื่อเทศบาลหรือโจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลอำนาจหน้าที่ดังกล่าวของโจทก์ที่ 2 ก็เป็นเพียงอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลเท่านั้น มิได้ให้โจทก์ที่ 2มีอำนาจกระทำแทนโจทก์ที่ 1 หรือทำให้โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำละเมิดแก่โจทก์ที่ 1 ได้ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าเงินส่วนหนึ่งที่ถูกยักยอกไปเป็นเงินของกระทรวงมหาดไทยที่จ่ายอุดหนุนการศึกษาให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้โจทก์ที่ 2 ควบคุมดูแลและตรวจสอบและอนุมัติให้แก่โจทก์ที่ 1เมื่อเกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 มีส่วนเสียหายด้วยนั้น เห็นว่า ข้อนี้โจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายไว้ในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 19ตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นแล้วว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเทศบาลเมืองขอนแก่น จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานคลัง จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ของโจทก์ที่ 1 ในช่วงเวลาตามฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 5 ต่างได้ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ที่ 1 ไปร่วมกันในรายเดียวกันบ้าง แยกกันต่างกรรมต่างวาระบ้างซึ่งจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน5,177,291.06 บาท จำเลยที่ 1 รับผิดจำนวน 4,693,036.27 บาทจำเลยที่ 2 รับผิดจำนวน 122,843.09 บาท จำเลยที่ 3 รับผิดจำนวน266,758.25 บาท และจำเลยที่ 5 รับผิดจำนวน 94,653.45 บาทในช่วงเวลาที่เกิดการทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ที่ 1 ไปดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองขอนแก่น จำเลยที่ 8 ถึงวันที่ 13 ดำรงตำแหน่งเทศมนตรีนายสถาพร รื่นราตรี สามีจำเลยที่ 14 และจำเลยที่ 15 ดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาล จำเลยที่ 16 ถึงที่ 19 ดำรงตำแหน่งรองปลัดเทศบาล โดยผลัดกันดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวในช่วงเวลาต่าง ๆ กันเช่นนี้ตามที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 6 ถึงที่ 19 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เพราะปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 39 และระเบียบของกระทรวงมหาดไทยเอกสารหมาย จ.41 จ.42 และ จ.43 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ให้คณะเทศมนตรีควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า ในกรณีที่นายกเทศมนตรีไม่อาจบริหารกิจการได้ ให้นายกเทศมนตรีตั้งเทศมนตรีผู้หนึ่งทำการแทน” บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เพียงกำหนดให้คณะเทศมนตรีรับผิดชอบบริหารกิจการของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น มิได้บัญญัติให้คณะเทศมนตรีร่วมรับผิดกับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตแต่อย่างใด ส่วนระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินเทศบาล ตามเอกสารหมาย จ.42 ได้กำหนดไว้ในข้อ 64 ว่า บรรดาเงินรายได้หรือเงินอื่นใดของเทศบาลให้นายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล และหัวหน้าหน่วยการคลังและเจ้าหน้าที่การเงินเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันในการเก็บและรักษาเงินดังกล่าว หากปรากฏว่ามีการทุจริตอันเกี่ยวกับการเก็บรักษาเงินตามระเบียบนี้โดยการปล่อยปละละเลยหรือเพราะประมาทเลินเล่ออันวิญญูชนพึงกระทำในหน้าที่และในฐานะเช่นนั้นให้บุคคลดังกล่าวนี้ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินคืนแก่เทศบาลจนครบ ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 30 วัน ก็ย่อมมีความหมายว่านายกเทศมนตรีหรือปลัดเทศบาลจะต้องได้ปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่ออันวิญญูชนที่กระทำในหน้าที่และฐานะเช่นนั้นเท่านั้น จึงจะต้องรับผิด แต่จากการนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีพยานปากใดเบิกความว่าจำเลยเหล่านี้ได้กระทำเช่นนั้น ที่นายถนอม ชาญนุวงศ์ เบิกความว่า พยานเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดและผู้รับผิดชอบทางแพ่งกรณีเกิดการทุจริตทางการเงินของโจทก์ที่ 1 ซึ่งทางการสอบสวนทราบว่าอดีตนายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาลได้ปล่อยปละละเลย ไม่ตรวจสอบควบคุมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินโดยใกล้ชิดนั้นก็มิได้หมายความว่าเป็นการปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่ออันวิญญูชนพึงกระทำในหน้าที่และฐานะเช่นนั้นของจำเลยเหล่านี้แต่อย่างใดคดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 6 ถึงที่ 19 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ฎีกาโจทก์ที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน