คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การถอนฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เพียงแต่บัญญัติให้ศาลฟังจำเลยเท่านั้น มิได้บัญญัติห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง การอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลซึ่งพิจารณาถึงความสุจริตและคำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงคดีด้วย โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเห็นของกรมบัญชีกลาง ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์ขอถอนฟ้องโดยอ้างว่าได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเอกสารที่โจทก์ไม่เคยทราบมาก่อนและโจทก์เข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำสั่งของจำเลยซึ่งถ้าทราบมาก่อนก็จะไม่ฟ้องคดีนี้ เห็นได้ว่าเมื่อโจทก์ถอนฟ้องคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ต้องรับผิดยังคงมีอยู่จึงไม่ทำให้โจทก์ได้เปรียบในเชิงคดีอันแสดงว่าโจทก์ขอถอนฟ้องโดยสุจริต
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 บัญญัติให้สิทธิจำเลยจะฟ้องแย้งโจทก์มาในคำให้การได้ถ้าคำฟ้องแย้งเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมเท่านั้น เมื่อจำเลยฟ้องแย้งโจทก์มาในคำให้การ โจทก์ก็คือจำเลยในฟ้องแย้ง คดีตามฟ้องแย้งจึงมีคู่ความครบถ้วนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ การที่ศาลแรงงานภาค 1 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเดิม ก็คงมีผลเฉพาะคดีโจทก์ว่าไม่มีฟ้องเดิมที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเท่านั้น หามีผลให้ฟ้องแย้งของจำเลยตกไปด้วยไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทองค์การของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยออกคำสั่งที่ 053/2553 ให้โจทก์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองส่งเสริมกิจการโคนมภาคเหนือ และนายเสริมศักดิ์ลูกจ้างของจำเลยอีกคนหนึ่งรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยอ้างว่าโจทก์และนายเสริมศักดิ์ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับของจำเลยมิได้ส่งสัญญาที่นายนพดลในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการจำเลยลงนามในการซื้อขายน้ำนมดิบกับห้างหุ้นส่วนจำกัดพีแอนด์พีโปรมิลค์มาร์เก็ตติ้งให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบ ทำให้สัญญาขาดความชัดเจนว่าจะชำระเงินเมื่อใด ณ สถานที่ใด และเมื่อทำสัญญาแล้วหน่วยงานใดมีหน้าที่ส่งสัญญาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามสัญญา ทั้งไม่มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติ ทำให้ไม่มีการติดตามว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดพีแอนด์พีโปรมิลค์มาร์เก็ตติ้งชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญาหรือไม่ จึงไม่มีการรายงานผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อระงับการขายตามเงื่อนไขของสัญญา เป็นเหตุให้มีหนี้ค้างชำระจำนวนมาก แต่ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1,783,412.58 บาท จึงให้นายเสริมศักดิ์และโจทก์ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร้อยละ 70 ของความเสียหายคิดเป็นเงิน 1,248,388.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในส่วนเท่า ๆ กัน ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ไม่ได้กระทำละเมิดต่อจำเลยโดยมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ความเสียหายจากการไม่ได้รับชำระหนี้เป็นเรื่องปกติในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้จำเลยยังได้ดำเนินคดีแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพีแอนด์พีโปรมิลค์มาร์เก็ตติ้งแล้ว ซึ่งคดีอยู่ในชั้นบังคับคดี จึงเป็นกรณีที่จำเลยอาจได้รับการชำระหนี้เต็มจำนวนได้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 053/2553
จำเลยให้การว่าคำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 624,194.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานภาค 1 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้าน
ศาลแรงงานภาค 1 มีคำสั่งว่าเมื่อพิจารณาคำแถลงคัดค้านการขอถอนฟ้องของจำเลยแล้ว กรณียังไม่มีเหตุอันสมควร จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ สำหรับฟ้องแย้งของจำเลยนั้น เมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว กรณีจึงถือได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยย่อมตกไปตามฟ้องเดิมของโจทก์ ให้จำหน่ายคดีฟ้องแย้งของจำเลยเช่นกัน
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าการที่ศาลแรงงานภาค 1 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีฟ้องแย้งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การถอนฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เพียงแต่บัญญัติให้ศาลฟังจำเลยเท่านั้น มิได้บัญญัติห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง การอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลซึ่งพิจารณาถึงความสุจริตและคำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงคดีด้วย คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเห็นของกรมบัญชีกลางตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์ขอถอนฟ้องโดยอ้างว่าได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเอกสารที่โจทก์ไม่เคยทราบมาก่อนและโจทก์เข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำสั่งของจำเลยซึ่งถ้าทราบมาก่อนก็จะไม่ฟ้องคดีนี้ เห็นได้ว่าเมื่อโจทก์ถอนฟ้องคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ต้องรับผิดยังคงมีอยู่จึงไม่ทำให้โจทก์ได้เปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใดอันแสดงว่าโจทก์ขอถอนฟ้องโดยสุจริต ดังนั้นที่ศาลแรงงานภาค 1 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจึงชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ส่วนนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่ว่าเมื่อศาลแรงงานภาค 1 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ คำฟ้องแย้งของจำเลยจะตกไปหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 บัญญัติให้สิทธิจำเลยจะฟ้องแย้งโจทก์มาในคำให้การได้ถ้าคำฟ้องแย้งเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมเท่านั้น เมื่อจำเลยฟ้องแย้งโจทก์มาในคำให้การ โจทก์ก็คือจำเลยในฟ้องแย้ง คดีตามฟ้องแย้งจึงมีคู่ความครบถ้วนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ การที่ศาลแรงงานภาค 1 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเดิม ก็คงมีผลเฉพาะคดีโจทก์ว่าไม่มีฟ้องเดิมที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเท่านั้น หามีผลให้ฟ้องแย้งของจำเลยตกไปด้วยไม่ การที่ศาลแรงงานภาค 1 จำหน่ายคดีฟ้องแย้งของจำเลยไปด้วย จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ในส่วนนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานภาค 1 ที่สั่งจำหน่ายฟ้องแย้ง ให้ศาลแรงงานภาค 1 ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคำฟ้องแย้งของจำเลยต่อไปและมีคำพิพากษาตามรูปคดี

Share