แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กรมการศุลกากรจำเลยได้รับมอบหมายจากกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล การที่จำเลยเรียกเก็บเกินจากโจทก์โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกส่วนที่เกินคืนได้โดยไม่ต้องฟ้องกรมสรรพากรด้วย และไม่ใช่เป็นการฟ้องเรียกคืนเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินโดยมิชอบ โจทก์จึงฟ้องจำเลยได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่างเดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนสิงหาคม2532 โจทก์ได้สั่งสินค้าประเภทอะไหล่เครื่องไฟฟ้าใช้กับรถยนต์หรือยานยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้า เอฟ.ดี. หลายประเภทจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 12 ครั้ง โดยโจทก์ได้สำแดงรายการสินค้าและพิกัดอัตราศุลกากร ไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้าของโจทก์ทุกครั้ง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งว่าสินค้าของโจทก์สามารถใช้ทดแทนกับอะไหล่แท้ได้จึงต้องถือเป็นอะไหล่ที่ใช้ทดแทนอะไหล่แท้ ตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2527โจทก์จึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามประกาศกรมศุลกากรที่ 34/2528 ทำให้ราคาสินค้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้ในการประเมินรวมตลอดถึงภาษีการค้าเป็นราคาของอะไหล่แท้ที่กำกับอะไหล่เครื่องไฟฟ้าใช้กับรถยนต์หรือยานยนต์ที่โจทก์นำเข้ามิใช่ราคาตามที่ปรากฏในใบแจ้งราคาสินค้าที่โจทก์ได้ยื่นเสนอต่อจำเลย โจทก์ได้ชำระอากร ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามจำนวนที่โจทก์ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าและวางเงินประกันสำหรับค่าภาษีอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินเพิ่มเติมเฉพาะการนำเข้าในสองครั้งแรก ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้ง ให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มเติม โจทก์ได้โต้แย้งการประเมินราคาสินค้าของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแล้วสำหรับการนำเข้าตามใบขนสินค้าจำนวน 10 ฉบับหลัง โจทก์จำต้องเพิ่มราคานำเข้าตามวิธีการประเมินราคาสินค้าของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย และจำต้องชำระอากรภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มรวมเป็นเงิน 5,720,158 บาท และโจทก์ได้สงวนสิทธิโต้แย้งราคาไว้ต่อจำเลยก่อนที่จำเลยจะส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ การประเมินภาษีอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตามคำฟ้อง และตามประกาศที่จำเลยได้ประกาศใช้เกี่ยวกับการประเมินราคาอะไหล่ยานยนต์นั้นเป็นคนละกรณีกับสินค้าที่โจทก์นำเข้า การที่จำเลยเรียกเก็บภาษีอากรของโจทก์โดยยึดถือราคาของสินค้าอะไหล่แท้ ดังเช่นอะไหล่ที่ใช้กับรถยนต์ยี่ห้ออื่น ๆ ซึ่งมีเมืองกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น โดยถือเกณฑ์ให้แตกต่างกันไม่เกินร้อยละ 10 ตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2527 จึงมิชอบ เพราะมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยต้องคืนเงินอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่เรียกเก็บไว้เกิน พร้อมด้วยดอกเบี้ย ขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าขาเข้าตามฟ้อง และคืนเงินภาษีอากรและดอกเบี้ยรวม 1,021,074.78 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 943,289 บาท นับจากวันฟ้องถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า สินค้าของโจทก์เป็นสินค้าประเภทมียี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้ามีหมายเลขอะไหล่ มีใบแจ้งราคาสินค้าของโรงงานผลิตอันเป็นสินค้าที่ใช้ทดแทนอะไหล่แท้ และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินราคาสินค้าของโจทก์โดยเปรียบเทียบราคาสูงสุดของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกัน เมืองกำเนิดเดียวกันหรือโซนเดียวกันโดยถือเกณฑ์ให้แตกต่างกันได้ไม่เกินร้อยละ 10 ราคา สินค้าที่ประเมินเพิ่มขึ้นนี้เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ทั้งโจทก์ก็ยอมชำระตามราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมิน และมิได้โต้แย้งราคาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรที่อ้างว่าต้องเสียเพิ่ม โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินตามใบขนสินค้าขาเข้า ฉบับเลขที่ 041-61816 และ เลขที่ 061-41396เฉพาะอากรขาเข้า ให้จำเลยคืนเงินค่าอากรขาเข้าที่โจทก์ชำระเกินไปตามใบขนสินค้าขาเข้าทุกฉบับ และคืนภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับเลขที่ 071-60412, 071-62653, 081-63230,091-63462, 111-60321, 022-61067, 032-63800, 062-64259, 082-40451และ 082-62497 แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินภาษีอากรที่จำเลยจะต้องคืนนับแต่วันที่โจทก์ชำระภาษีอากรเกินไปจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่าการประเมินค่าภาษีอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า…ราคาสินค้าพิพาทที่โจทก์สำแดงไว้ในตอนแรกจึงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมิชอบอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกคืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้า 10 ฉบับหลังหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ได้ ในข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล จำเลยเป็นเพียงผู้เก็บแทนกรมสรรพากร โจทก์ต้องฟ้องเรียกคืนจากกรมสรรพากรนั้นศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยได้รับมอบหมายจากกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล การที่จำเลยเรียกเก็บเกินจากโจทก์โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกส่วนที่เก็บเกินคืนได้โดยหาจำต้องฟ้องกรมสรรพากรด้วยไม่ และที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ไม่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากรโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น สำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้า 10 ฉบับหลังนี้ โจทก์เป็นผู้ชำระเกินเองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมิได้ประเมินหาใช่เป็นการฟ้องเรียกคืนเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินโดยมิชอบไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน