คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้ตาย และแต่งตั้ง ก. เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. แทน ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกในคดีนี้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
อ. ผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม อ. ผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 516 แห่ง ป.พ.พ. การกระทำของ อ. ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง เนื่องจากโจทก์ผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งถือว่ามีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 280 (1) แห่ง ป.วิ.พ. กล่าวคือ เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หากขายได้ราคาสูงหรือต่ำย่อมมีผลต่อการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการบังคับเอาเงินส่วนที่ขาดไปจาก อ. ผู้สู้ราคาสูงสุดคนเดิม มิใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดเท่านั้นที่จะมีอำนาจบังคับเอาจาก อ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 11,880,150.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 9,800,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ จึงให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 9,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 50,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ และได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายอดุลย์ ผู้ตาย และแต่งตั้งนางสาวกานต์สิรีหรือรัฐวรรณเป็นผู้จัดการมรดกของนายอดุลย์แทนเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 ปรากฏตามสำเนาคำสั่งของศาลแพ่ง ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกในคดีนี้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอดุลย์จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246, 247
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 246, 247 โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2550 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 16867, 16868 และ 16869 ตำบลสี่พระยา (บางรัก) อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 405/2539 หมายเลขแดงที่ 13902/2539 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) รับโอนสิทธิเรียกร้องมาและเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมตามคำสั่งศาลแล้ว นายอดุลย์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด 40,000,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติขายโดยนายอดุลย์วางเงินมัดจำ 50,000 บาท ส่วนที่เหลือ 39,950,000 บาท จะชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันขายทอดตลาด แต่นายอดุลย์ผิดสัญญา เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำและประกาศขายทอดตลาดใหม่ในวันที่ 6 กันยายน 2551 บริษัทอีเอสพี เอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด 30,200,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติขาย ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ทวงถามให้นายอดุลย์ชำระราคาที่ขาด 9,800,000 บาท แต่นายอดุลย์เพิกเฉย โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 ต่อมานายอดุลย์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของนายอดุลย์ ผู้ตาย เห็นว่า นายอดุลย์ผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม นายอดุลย์ผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 516 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การกระทำของนายอดุลย์ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง เนื่องจากโจทก์ผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถือว่ามีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 280 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กล่าวคือ เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หากขายได้ราคาสูงหรือต่ำย่อมมีผลต่อการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการบังคับเอาเงินส่วนที่ขาดไปจากนายอดุลย์ผู้สู้ราคาสูงสุดคนเดิม มิใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดเท่านั้นที่จะมีอำนาจบังคับเอาจากนายอดุลย์ดังที่จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเดิมมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายอดุลย์ใช้ราคาขายทอดตลาดที่ขาดไปพร้อมดอกเบี้ย นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายอดุลย์ ผู้ตาย ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน คำขออื่นให้ยก กับให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 15,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share