คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้ยืมเงินและได้รับเงินไปจากโจทก์เพียง 60,000 บาท มิใช่ 290,000 บาท แต่ที่ปรากฏในสัญญากู้ยืมเงินนั้น เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ความในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ไม่ จำเลยจึงย่อมนำพยานบุคคลมาสืบในประเด็นดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 361,183 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 290,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินและได้รับเงินจากโจทก์ประมาณ 60,000 บาท เท่านั้น โจทก์ให้จำเลยเขียนระบุจำนวนเงินในสัญญากู้ยืมเงินสูงกว่าจำนวนเงินที่กู้ยืมจริง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่าโจทก์จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 กับโจทก์ โดยได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 19536 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียประการเดียวว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด โจทก์ฎีกาว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 290,000 บาท จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมไปครบถ้วนแล้ว หลังทำสัญญาจำเลยผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เห็นว่า ตามทางนำสืบของจำเลยได้ความว่าจำเลยและสามีจำเลยมีอาชีพรับจ้างกรีดยางมีรายได้ต่อเดือนคนละประมาณ 3,500 บาท เท่านั้น ทั้งมีบุตรต้องเลี้ยงดูถึง 7 คน ซึ่งคนที่มีฐานทางเศรษฐกิจเช่นจำเลยไม่น่าจะมีศักยภาพพอที่จะกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นได้ครั้งละมาก ๆ ซึ่งข้อนี้เชื่อว่าจำเลยเองก็ตระหนักเช่นกัน ในส่วนของโจทก์แม้จะได้ความว่าโจทก์จำเลยเป็นพี่น้องกันแต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ตอบศาลถามว่า ขณะให้กู้ยืมเงินนั้น จำเลยไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้ว โดยจำเลยและครอบครัวได้ย้ายไปรับจ้างกรีดยางอยู่ที่อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยจะมีบุตรกี่คน และเรียนหนังสือกี่คน ทั้งไม่ทราบว่าจำเลยมีรายได้เดือนละเท่าใด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยมิได้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดหรือมีเยื่อใยต่อกันมากนัก ตามพฤติการณ์จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะให้จำเลยกู้ยืมเงินคราวละมาก ๆ ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในการทำสัญญากู้ยืมเงิน ก็ปรากฏว่าโจทก์ยึดถือโฉนดที่ดินจำเลยไว้เป็นประกันด้วย ซึ่งหากโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินเพราะสงสารบุตรจำเลยที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ก็ไม่น่าจะต้องยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นหลักประกัน ส่วนที่โจทก์อ้างว่าให้จำเลยกู้ยืมเงินครั้งที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท นั้น ก็ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่า การกู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 เป็นการกู้ยืมภายหลังจากที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 แล้ว การให้กู้ยืมเงินเป็นครั้งที่ 2 ในจำนวนที่มากกว่าโดยที่จำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้ที่กู้ยืมไปครั้งแรกให้โจทก์ถือเป็นเรื่องผิดวิสัยสำหรับผู้มีอาชีพปล่อยเงินกู้เช่นโจทก์ เมื่อพิจารณาราคาที่ดินตามโฉนดที่ดินที่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกันก็ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 31699 ซึ่งเป็นที่นามีราคาไร่ละประมาณ 20,000 บาท ส่วนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 19536 ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่ามีราคาประมาณ 100,000 บาท ซึ่งราคาที่ดินที่ได้ความดังกล่าวก็ไม่ได้ท่วมหนี้ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์แต่อย่างใด อันเป็นเรื่องผิดวิสัยอีกอย่างหนึ่งของผู้ที่มีอาชีพปล่อยเงินกู้ที่ให้กู้ยืมโดยไม่พิจารณาหลักประกันให้ถ้วนถี่ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นน้องจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับหลักประกันนั้นก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ขัดกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยดังกล่าว ส่วนที่ได้ความว่าจำเลยเป็นผู้กรอกข้อความรวมทั้งจำนวนเงินลงในสัญญากู้ยืมเงินนั้น จำเลยก็ได้นำสืบถึงสาเหตุที่ยอมกรอกข้อความดังกล่าวว่าเป็นเพราะเห็นว่าโจทก์เป็นพี่ชายคงไม่กลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยซึ่งนับว่าเป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลสำหรบจำเลยซึ่งอยู่ในฐานะน้องสาวและต้องพึ่งพาโจทก์ทางด้านการเงิน พยานหลักฐานที่จำเลยนำมาสืบมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เพียง 60,000 บาท สำหรับที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เพียง 60,000 บาท มิใช่ 290,000 บาท ตามที่ปรากฏในสัญญากู้ยืมเงิน เป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญากู้ยืมเงิน เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) นั้น เห็นว่า การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้ยืมเงินและได้รับเงินไปจากโจทก์เพียง 60,000 บาท มิใช่ 290,000 บาท ตามที่ปรากฏในสัญญากู้ยืมเงินนั้น เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) ไม่ จำเลยจึงย่อมนำพยานบุคคลมาสืบในประเด็นดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกามีเพียง 277,483 บาท ดังนั้น ที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาจากทุนทรัพย์ 361,183 บาท จึงเป็นการเสียที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share