คำวินิจฉัยที่ 99/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสังกัดจำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกันเข้าตรวจค้นบ้านและจับกุมโจทก์ทั้งสองในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจรและได้ร่วมกันยึดของกลาง กรณีเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญา การที่จำเลยที่ ๕ ได้ส่งมอบของกลางทั้งสามรายการในระหว่างการสอบสวนคดีให้แก่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและแม้ในภายหลังพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ทั้งสองแล้ว เมื่อมูลความแห่งคดีนี้ สืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒ (๑๖) มาตรา ๗๘ และมาตรา ๘๕ ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดและยึดของกลางไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด แม้ว่าระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด หากมีผู้มีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของเรียกร้องขอคืนของนั้นและพนักงานสอบสวนเห็นว่าสิ่งของนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี พนักงานสอบสวนก็อาจคืนสิ่งของดังกล่าวก่อนคดีถึงที่สุดได้ จึงเป็นการดำเนินการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง อันอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม กรณีจึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๙ /๒๕๕๗

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๕ นายรังษี กลับประสิทธิ์ ที่ ๑ นางสาวจันทร์แรม ลิ้มเจริญ ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมตำรวจ ที่ ๑ กับพวกรวม ๕ ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๑๕/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการระดับกรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจสังกัดจำเลยที่ ๑ มีอำนาจสืบสวนสอบสวน การปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เมื่อระหว่างวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้ร่วมกันเข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ ๕๓ หมู่ที่ ๒ ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และจับกุมโจทก์ทั้งสองในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้ร่วมกันยึดตู้บรรจุสินค้าจำนวน ๑ ตู้ ฝาปิดท้ายไฮโดรลิกหรือลิฟท์ยกสำหรับติดตั้งท้ายรถยนต์บรรทุก จำนวน ๑ ชิ้น โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อ Hutch จำนวน ๑ เครื่อง ไปเป็นของกลาง ต่อมาจำเลยที่ ๕ สรุปสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการ โดยมีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ทั้งสองในข้อหาลักทรัพย์และ รับของโจร วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๕ เป็นผู้รับมอบของกลางทั้งสามรายการดังกล่าว ข้างต้นจากจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้ส่งมอบของกลางทั้งสามรายการให้แก่นายดอน วงเสนา ซึ่งอ้างตนว่า เป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งสามรายการของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งจำเลยทั้งห้ามีหน้าที่ต้องเก็บรักษาของกลางที่อยู่ระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุดแต่หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ กลับส่งมอบของกลางทั้งสามรายการให้แก่บุคคลซึ่งไม่ใช่เจ้าของ และไม่มีหลักฐานการได้มาของทรัพย์สินนั้น ภายหลังพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองได้พยายามติดตามทวงถามให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ส่งมอบทรัพย์สินทั้งสามรายการคืน แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ต้องเสียหาย โดยขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือใช้ราคาทรัพย์ทั้งสามรายการ
จำเลยทั้งห้าให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๕ รับมอบของกลางทั้งสามรายการ จากจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ และได้ดำเนินเก็บรักษาของกลางคดีนี้ไว้เป็นอย่างดีและได้ตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานการเป็นเจ้าของทรัพย์สินด้วยความละเอียดรอบคอบเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับการขอคืนของกลางทุกประการ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยทั้งห้าจึงไม่ต้องรับผิด
จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจาการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นขั้นตอน เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญาอันอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม แม้ว่าในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐคือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ อาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย แต่ขั้นตอนใดเป็นการกระทำที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะโดยตรงการกระทำในขั้นตอนนั้นก็ย่อมอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้ตรวจยึดทรัพย์สินทั้งสามรายการไปจากโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ ๕ ได้คืนของกลางให้กับบุคคลอื่นไปโดยไม่ชอบ ซึ่งการยึดของกลางทั้งสามรายการและการสั่งคืนของกลางของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ กระทำไปโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๕ ในการจับกุมและการยึดตู้บรรจุสินค้าจำนวน ๑ ตู้ ฝาปิดท้ายไฮโดรลิกหรือลิฟท์ยกสำหรับติดตั้งท้ายรถยนต์บรรทุกจำนวน ๑ ชิ้น และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อ Hutch จำนวน ๑ เครื่อง ไว้เป็นของกลางในการดำเนินคดีอาญา รวมทั้งการที่จำเลยที่ ๕ สรุปสำนวนผลการสอบสวนเสนอต่อพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการโดยมีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ทั้งสองในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ของผู้อื่นในเวลากลางคืนหรือรับของโจรจะเป็นขั้นตอนหรือกระบวนการในการดำเนินคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญาก็ตาม แต่ในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวนั้น อาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย ถ้าขั้นตอนใดเป็นการกระทำที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำดังกล่าวจะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่ถ้าการกระทำใดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นการกระทำที่เข้าเกณฑ์เป็นกรณีพิพาท ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒การกระทำนั้นจะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ทั้งสองในข้อหาลักทรัพย์และรับของโจร กรณีจึงทำให้กระบวนการในการดำเนินคดีอาญาของโจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้นลงแล้วนับแต่วันดังกล่าว การใช้ดุลพินิจคืนหรือไม่คืนของกลางที่ยึดไว้ให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือบุคคลอื่นใดนั้นจึงมิได้เป็นขั้นตอนหรือกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาของคดีอาญาเพื่อนำไปสู่การลงโทษโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องโดยมีเจตนามุ่งประสงค์ที่จะเรียกค่าเสียหายอันเนื่องจากการที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลย ตามคำฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการระดับกรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจสังกัดจำเลยที่ ๑ มีอำนาจสืบสวนสอบสวน การปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้ร่วมกันเข้าตรวจค้นบ้านและจับกุมโจทก์ทั้งสองในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้ร่วมกันยึดตู้บรรจุสินค้าจำนวน ๑ ตู้ ฝาปิดท้ายไฮโดรลิกหรือลิฟท์ยกสำหรับติดตั้งท้ายรถยนต์บรรทุก จำนวน ๑ ชิ้น โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อ Hutch จำนวน ๑ เครื่อง ไปเป็นของกลาง ต่อมาจำเลยที่ ๕ สรุปสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการ โดยมีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ทั้งสองในข้อหาลักทรัพย์และรับของโจร วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๕ เป็นผู้รับมอบของกลางทั้งสามรายการดังกล่าว ได้ส่งมอบของกลางทั้งสามรายการให้แก่ นายดอน วงเสนา ซึ่งอ้างตนว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งสามรายการของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งจำเลยทั้งห้ามีหน้าที่ต้องเก็บรักษาของกลางที่อยู่ระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุดแต่หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ กลับส่งมอบของกลางทั้งสามรายการให้แก่บุคคลซึ่งไม่ใช่เจ้าของและไม่มีหลักฐานการได้มาของทรัพย์สินนั้น ภายหลังพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองได้พยายามติดตามทวงถามให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ส่งมอบทรัพย์สินทั้งสามรายการคืน แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ต้องเสียหาย โดยขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือใช้ราคาทรัพย์ทั้งสามรายการ จำเลยทั้งห้าให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๕ รับมอบของกลางทั้งสามรายการ จากจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ และได้ดำเนินเก็บรักษาของกลางคดีนี้ไว้เป็นอย่างดีและได้ตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานการเป็นเจ้าของทรัพย์สินด้วยความละเอียดรอบคอบเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับการขอคืนของกลางทุกประการ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยทั้งห้าจึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้ร่วมกันเข้าตรวจค้นบ้านและจับกุมโจทก์ทั้งสองในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจรและได้ร่วมกันยึดของกลาง กรณีเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญา การที่จำเลยที่ ๕ ได้ส่งมอบของกลางทั้งสามรายการในระหว่างการสอบสวนคดีให้แก่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและแม้ในภายหลังพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ทั้งสองแล้ว เมื่อมูลความแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒ (๑๖) มาตรา ๗๘ และมาตรา ๘๕ ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดและยึดของกลางไว้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด แม้ว่าระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด หากมีผู้มีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของเรียกร้องขอคืนของนั้นและพนักงานสอบสวนเห็นว่าสิ่งของนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี พนักงานสอบสวนก็อาจคืนสิ่งของดังกล่าวก่อนคดีถึงที่สุดได้ จึงเป็นการดำเนินการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง อันอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม กรณีจึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายรังษี กลับประสิทธิ์ ที่ ๑ นางสาวจันทร์แรม ลิ้มเจริญ ที่ ๒ โจทก์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมตำรวจ ที่ ๑ กับพวกรวม ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) นายดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share