แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”เมื่อผู้รับตราส่งได้รับมอบของจากผู้ขนส่งหรือจากบุคคลตามมาตรา 40(3) ไว้แล้ว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้มอบของซึ่งมีสภาพ จำนวน น้ำหนักและรายละเอียดอื่น ๆตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง…” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น มิได้หมายความว่าของหรือสินค้าที่ผู้รับตราส่งได้รับนั้นมีสภาพสมบูรณ์ไม่มีความเสียหายทั้งข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวก็มิใช่ข้อสันนิษฐานที่เด็ดขาด โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้เห็นว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับสินค้าได้
วัสดุห่อหุ้มสินค้าหรือกล่องกระดาษบรรจุสินค้า เป็นสิ่งห่อหุ้มสินค้าที่อยู่ชั้นนอกสุดย่อมมีโอกาสเปียกน้ำได้ตั้งแต่แรกเมื่อน้ำผ่านเข้าไปในตู้สินค้ากล่องกระดาษซึ่งเป็นวัสดุห่อหุ้มสินค้าโดยสภาพ จึงสามารถดูดซึมและรับน้ำที่เข้ามาไว้ได้ตั้งแต่แรก ตลอดจนสามารถนำไปตรวจพิสูจน์ได้ดีว่าน้ำที่เปียกนั้นเป็นน้ำทะเลหรือน้ำจืด เมื่อกระดาษบรรจุสินค้าที่ด้านล่างของตู้สินค้าเปียกชุ่มน้ำและตรวจพบคลอไรด์ที่กล่องกระดาษซึ่งเปียกชุ่มน้ำดังกล่าว 0.04 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่ากล่องกระดาษดังกล่าวเปียกน้ำทะเล เพราะปกติน้ำจืดจะไม่มีสารคลอไรด์ผสมอยู่แต่จะมีสารคลอไรด์ผสมอยู่ในน้ำทะเล เมื่อสินค้าที่ขนส่งเป็นผ้าอนามัยย่อมง่ายแก่การที่สินค้านั้นจะดูดซึมซับน้ำทะเลไว้ สินค้าดังกล่าวจึงได้รับความเสียหายเพราะเปียกน้ำทะเลในระหว่างการขนส่ง
การขนส่งสินค้ามากับเรือสินค้าทางทะเลนั้น ในระหว่างการเดินทางเรือย่อมจะต้องประสบกับคลื่นลมในทะเลเป็นปกติ น้ำทะเลย่อมมีโอกาสที่จะเข้าไปในระวางสินค้าได้จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบให้เห็นว่าระวางเรือมีฝาปิดมิดชิดจนน้ำทะเลเข้าไม่ได้ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าตู้สินค้าที่ขนส่งตั้งอยู่ในระวางเรือที่มีฝาระวางปิดมิดชิดย่อมไม่มีโอกาสที่น้ำทะเลจะเข้ามาในระวางได้ก็ขัดกับผลการตรวจพิสูจน์ ซึ่งพบน้ำทะเลอยู่ในสินค้าดังกล่าวด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์โดยโจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าผ้าอนามัยจำนวน 1,687 กล่อง เป็นเงิน 3,841,976 บาท จากบริษัทพรอคเตอร์ แอนด์แกมเบิลแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยสินค้าดังกล่าวขนส่งจากเมืองบูซาน (Busan) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี มายังกรุงเทพมหานคร หากสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหายหรือสูญหายระหว่างขนส่ง โจทก์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัย สินค้าดังกล่าวผู้เอาประกันภัยได้ซื้อจากบริษัทพรอคเตอร์แอนด์ แกมเบิล เกาหลี อิงค์. ผู้ขายซึ่งได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยเรือซูซุราน จากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีมากรุงเทพมหานคร เรือซูซุราน เดินทางมาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18กรกฎาคม 2542 ปรากฏว่าสินค้าผ้าอนามัยได้รับความเสียหายเพราะเปียกน้ำทะเลในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 จำนวน 143 กล่อง คิดเป็นค่าเสียหายทั้งหมดจำนวน325,668.39 บาท ผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องค่าเสียหายไปยังจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระค่าเสียหายให้ ผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องมายังโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยโจทก์จึงชำระค่าเสียหายจำนวน 325,668.39 บาท ให้ผู้เอาประกันภัยแล้วจึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสองในต้นเงินที่โจทก์จ่ายไปจำนวน 325,668.39บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2542 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จโดยดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 18,318.84 บาทในการขนส่งครั้งนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายและเป็นผู้แจ้งต่อผู้รับสินค้าถึงกำหนดที่เรือซึ่งขนส่งสินค้ามาถึงประเทศไทย ดำเนินการที่กรมเจ้าท่าเพื่อให้เรือซูซุรานเข้ามายังประเทศไทย ดำเนินการด้านตรวจคนเข้าเมือง และดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายได้รับค่าตอบแทนในการขนส่งน้อยกว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งทอดแรก เพราะมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อเจ้าของสินค้า จำเลยที่ 2 จะรับชดใช้ให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 เอาประกันภัยไว้แก่สมาคมผู้ประกันภัย (Protection and Indemnity Club) จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 343,987.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินจำนวน 325,668.39 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจการรับขนของทางทะเล การขนส่งสินค้าดังกล่าวเป็นการขนส่งตามใบตราส่ง ณ ท่าเรือต้นทางซึ่งระบุว่า บูซาน ซีวาย คือ ผู้ส่งเป็นผู้นำตู้สินค้าไปทำการบรรจุสินค้า ณ สถานที่ของตนเองพร้อมปิดผนึกตู้ด้วยตนเองและนำตู้สินค้าดังกล่าวมาส่งให้แก่ผู้ขนส่งเพื่อส่งต่อไป เมื่อเรือซูซุรานมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบตู้สินค้าให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย ความเสียหายมิได้เกิดขึ้นในระหว่างขนส่งสินค้าผ้าอนามัยที่ขนส่งเป็นสินค้าที่ต้องการความสะอาดและปลอดจากความชื้น ผู้ส่งสินค้าต้องบรรจุสินค้านั้นในบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มที่มิดชิดและป้องกันน้ำหรือความชื้นได้เป็นอย่างดี แต่ผู้ส่งสินค้าใช้กล่องบรรจุสินค้าที่เป็นลังกระดาษและไม่สามารถป้องกันน้ำหรือความชื้นได้ ความเสียหายของสินค้าจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2รับผิดชำระเงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่โต้แย้งกันว่าโจทก์รับประกันภัยทางทะเลซึ่งสินค้าผ้าอนามัยจำนวน 1,687 กล่อง จากบริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เอาประกันภัยซึ่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากบริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล อิงค์. ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีในวงเงินประกันภัยจำนวน 3,841,976 บาท บริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เกาหลีอิงค์. ผู้ขายสินค้า ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยเรือซูซุราน จากเมืองบูซาน ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี มายังกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อเรือซูซุรานเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2542 ปรากฏว่ามีสินค้าผ้าอนามัยได้รับความเสียหายเพราะเปียกน้ำบางส่วนจนไม่สามารถนำไปใช้งานได้จำนวน 143 กล่องโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายให้บริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เอาประกันภัยไปจำนวน 325,668.39 บาท เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2542 แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ว่า สินค้าผ้าอนามัยดังกล่าวได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งทางทะเลซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ นายชัยรัตน์ มีผล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินไหมทดแทนโจทก์เบิกความว่า เมื่อเรือซูซุรานเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าสินค้าผ้าอนามัยได้รับความเสียหายเพราะเปียกน้ำทะเลในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท แอสโซซิเอเต็ด มารีน เซอเวย์เยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ให้สำรวจความเสียหายของสินค้า นายคงศักดิ์ ศุภสน พยานโจทก์เบิกความว่า พยานทำงานอยู่ที่บริษัทโอเวอร์ซี มาแชนไดซ์ อินสเปกชั่น จำกัด ในตำแหน่งผู้จัดการห้องปฏิบัติการ เกี่ยวกับคดีนี้ทางบริษัทแอสโซซิเอเต็ด มารีน เซอเวย์เยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ส่งตัวอย่างวัสดุหุ้มมาให้ทำการตรวจสอบว่ามีคลอไรด์ผสมอยู่ด้วยหรือไม่จากการตรวจสอบพบว่า มีคลอไรด์ในตัวอย่างสิ่งที่ส่งมาเป็นปริมาณ 0.04 เปอร์เซ็นต์ ปกติสารคลอไรด์นั้นจะผสมอยู่ในน้ำทะเล เมื่อมาเปียกหรือปนเปื้อนกับวัสดุตัวอย่างก็อาจจะตรวจสอบพบได้เห็นว่า สินค้าผ้าอนามัยที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากถูกน้ำนั้นผลการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการปรากฏว่ามีคลอไรด์ผสมอยู่ด้วยถึง 0.04 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากน้ำทะเล เพราะในน้ำจืดย่อมไม่มีคลอไรด์ซึ่งเป็นสารประกอบของเกลือแกงผสมอยู่ ดังนั้น สินค้าจึงไม่อาจได้รับความเสียหายที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยคลองเตย ได้ เนื่องจากไม่ปรากฏว่าน้ำในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือซูซุรานมีปริมาณคลอไรด์เท่ากับน้ำทะเล ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าสินค้าผ้าอนามัยดังกล่าวได้รับความเสียหายระหว่างขนส่งทางทะเล โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งได้ชำระค่าเสียหายให้ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยแล้วรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยแล้วรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันมาเรียบร้อยเอาแก่จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง
ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบตู้สินค้าที่ขนส่งให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2542 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบของให้ผู้รับตราส่งแล้วตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 40(3)และตามมาตรา 49 ให้สันนิษฐานว่าผู้รับตราส่งได้รับของจากผู้ขนส่งหรือจากบุคคลตามมาตรา 40(3) ซึ่งมีสภาพดี จำเลยที่ 2 จึงได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวนั้น เห็นว่า มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อผู้รับตราส่งได้รับมอบของจากผู้ขนส่งหรือจากบุคคลตามมาตรา 40(3) ไว้แล้ว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้มอบของซึ่งมีสภาพ จำนวน น้ำหนักและรายละเอียดอื่น ๆ ตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง…” บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้หมายความไปถึงว่าของหรือสินค้าที่ผู้รับตราส่งได้รับนั้นมีสภาพสมบูรณ์ไม่มีความเสียหาย ทั้งข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวก็มิใช่ข้อสันนิษฐานที่เด็ดขาด โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้เห็นว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับสินค้าได้ และโจทก์ก็ได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสินค้าที่ขนส่งดังได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ส่งเฉพาะตัวอย่างวัสดุห่อหุ้มสินค้าไปตรวจสอบหาคลอไรด์โดยมิได้ส่งสินค้าไปตรวจสอบด้วยข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าผ้าอนามัยที่ขนส่งเปียกน้ำทะเลนั้น เห็นว่า วัสดุห่อหุ้มสินค้าหรือกล่องกระดาษบรรจุสินค้าเป็นสิ่งห่อหุ้มสินค้าที่อยู่ชั้นนอกสุดย่อมมีโอกาสเปียกน้ำได้ตั้งแต่แรกเมื่อน้ำผ่านเข้าไปในตู้สินค้า ดังนั้น กล่องกระดาษซึ่งเป็นวัสดุห่อหุ้มสินค้าดังกล่าวโดยสภาพจึงสามารถดูดซึมและรับน้ำที่เข้ามาไว้ได้ตั้งแต่แรกตลอดจนสามารถนำไปตรวจพิสูจน์ได้ดีว่าน้ำที่เปียกนั้นเป็นน้ำทะเลหรือน้ำจืด ปรากฏตามรายงานการสำรวจเอกสารหมายล.1 ว่า กระดาษบรรจุสินค้าที่ด้านล่างของตู้สินค้าเปียกชุ่มน้ำและตรวจพบคลอไรด์ที่กล่องกระดาษซึ่งเปียกชุ่มน้ำดังกล่าว 0.04 เปอร์เซ็นต์ จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่ากล่องกระดาษดังกล่าวเปียกน้ำทะเลเพราะปกติน้ำจืดจะไม่มีสารคลอไรด์ผสมอยู่แต่จะมีสารคลอไรด์ผสมอยู่ในน้ำทะเล เมื่อสินค้าที่ขนส่งเป็นผ้าอนามัยย่อมง่ายแก่การที่สินค้านั้นจะดูดซึมซับน้ำทะเลไว้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าสินค้าผ้าอนามัยที่ขนส่งเปียกน้ำทะเลจนได้รับความเสียหายตามที่โจทก์นำสืบ
ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า ตู้สินค้าที่ขนส่งถูกตั้งอยู่ในระวางเรือที่มีฝาระวางปิดมิดชิดย่อมไม่มีโอกาสที่น้ำทะเลจะเข้ามาในระวางได้นั้น เห็นว่า การขนส่งสินค้ามากับเรือสินค้าทางทะเลนั้น ในระหว่างการเดินทางเรือย่อมจะต้องประสบกับคลื่นลมในทะเลเป็นปกติ น้ำทะเลย่อมมีโอกาสที่จะเข้าไปในระวางสินค้าได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มิได้นำสืบให้เห็นชัดเจนว่าระวางเรือมีฝาระวางปิดมิดชิดจนน้ำทะเลเข้าไม่ได้ นอกจากนี้อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ยังขัดกับผลการตรวจพิสูจน์ซึ่งพบน้ำทะเลอยู่ในสินค้าดังกล่าว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน