แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลักประกันตามสัญญาซื้อขายของธนาคารที่จำเลยนำมามอบ แก่โจทก์เป็นการประกันเพื่อให้ปฏิบัติตามสัญญา หากผิดสัญญาโจทก์มีสิทธิริบเมื่อถือว่าเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง ย่อมนำมาคิดหักกันได้จากค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับเพราะต้องซื้อสินค้าจากบุคคลอื่นแพงขึ้น กรณีจำเลยไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงซื้อขายให้แก่โจทก์เลย โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อเห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้และจำเลยยอมให้โจทก์ใช้สิทธิปรับจำเลยได้จนถึงวันบอกเลิกสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่คู่กรณีสมัครใจทำกันขึ้น ทั้งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ของ ประชาชน ย่อมมีผลผูกพันคู่กรณี โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ด้วย สินค้าที่ซื้อขายกันเป็นเงิน 37,400 บาท โจทก์ต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น 25,125 บาท ซึ่งศาลพิพากษาให้ชดใช้ส่วนนี้แล้ว จำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาภายหลังนาน 2ปี ค่าปรับกรณีผิดสัญญาคิดเป็นรายวันเป็นเงินถึง 50,000บาทเศษ ซึ่งสูงเกินส่วน ศาลลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก คงกำหนดค่าปรับให้โจทก์ 15,000 บาท
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 21,385 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์คือ เงินประกัน 3,740 บาทที่ธนาคารทหารไทย จำกัดเป็นผู้ประกันไว้แก่โจทก์จำนำมาหักกับค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับเนื่องจากโจทก์ต้องซื้อสินค้าแพงขึ้นกว่าสัญญาที่ทำกับจำเลยไป 25,125 บาทได้หรือไม่เห็นว่าหลักประกันตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 ของธนาคารทหารไทย จำกัด ที่จำเลยนำมามอบแก่โจทก์นั้น เป็นการประกันเพื่อให้ปฏิบัติตามสัญญา ในวรรคสองระบุว่าโจทก์จะต้องคืนให้จำเลย เมื่อจำเลยพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว หมายถึงค่าเสียหายที่คู่กรณีกำหนดไว้ล่วงหน้าซึ่งจำเลยนำมาวางไว้ หากจำเลยผิดสัญญามีความเสียหายเกิดขึ้น โจทก์ย่อมมีสิทธิริบตามสัญญาข้อ 8 วรรคสอง เมื่อถือว่าเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง ย่อมนำมาคิดหักกันได้จากค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับเพราะต้องซื้อสินค้าจากบุคคลอื่นแพงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายตามความเป็นจริง แม้โจทก์เองก็ยอมให้คิดหักจากค่าปรับดังที่เคยทำหนังสือแจ้งถึงจำเลยตามเอกสารหมาย จ.10
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าปรับที่ตกลงกันไว้ในสัญญาอีกโสดหนึ่งด้วยนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่อาจส่งสินค้าให้โจทก์ได้ตามสัญญา ทั้งที่โจทก์ทำหนังสือเตือนหลายครั้ง โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 และแจ้งให้จำเลยชำระค่าปรับตามสัญญาแล้วตามเอกสารหมาย จ.10 เห็นว่า ตามสัญญาข้อ 8 วรรคแรกระบุว่า เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้วถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้อง หรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และวรรคสองระบุว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารฯ และถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่น ๆ ผู้ขายต้องยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ด้วยตามสัญญาข้อ 8 วรรคแรก ระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 7 ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาข้อ 8 วรรคสองระบุว่า ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบประกัน กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาตามข้อ 8 วรรคสอง นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ ข้อตกลงดังกล่าวเห็นได้ว่า ในกรณีที่จำเลยไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงซื้อขายให้แก่โจทก์เลยโจทก์ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อเห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ และจำเลยยอมให้โจทก์ใช้สิทธิปรับจำเลยได้จนถึงวันบอกเลิกสัญญาข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่คู่กรณีสมัครใจทำกันขึ้น ทั้งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมมีผลผูกพันคู่กรณี เมื่อโจทก์ประสงค์จะบังคับใช้สิทธิของโจทก์ตามสัญญาข้อ 8 วรรคสอง หาใช่ตามสัญญาข้อ 7 ไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าปรับตามฟ้องได้ ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2514/2525 ระหว่าง กองทัพบก โจทก์ บริษัทเวลโก จำกัดจำเลย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์ถึงสินค้าที่ทำการซื้อขายกันเจ็ดรายการ เป็นเงิน 37,400 บาท โจทก์ต้องซื้อสินค้าแพงขึ้นเป็นเงิน 25,125 บาท ศาลพิพากษาให้ชดใช้ส่วนนี้ให้แล้ว จำเลยผิดสัญญาแล้วโจทก์เพิ่งบอกเลิกสัญญาภายหลังนานประมาณ 2 ปี ค่าปรับกำหนดไว้กรณีผิดสัญญาคิดเป็นรายวันเป็นค่าปรับสูงถึง 50,000 บาทเศษ ซึ่งสูงเกินส่วนควรลดลงเป็นจำนวนพอสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรกเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ 15,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าปรับแก่โจทก์อีกส่วนหนึ่งเป็นเงิน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 2,500 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”