แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2531 ศาลชั้นต้นมีหนังสือให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2531และโจทก์ได้รับเงินค่าขายทรัพย์ดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 11 มกราคม2532 การบังคับคดีสำหรับที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้เสร็จสิ้นลงแล้วการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้านการบังคับคดีเมื่อวันที่ 29พฤศจิกายน 2532 จึงเป็นการคัดค้านภายหลังการบังคับคดีเสร็จสิ้นลงแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ และกระบวนพิจารณาในชั้นนี้มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา296 วรรคสอง บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วจึงไม่ต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27มาวินิจฉัยประกอบด้วยอีก
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน และศาลได้พิพากษาไปตามยอม โดยจำเลยที่ 1 ยอมชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน873,110.42 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องและจะชำระเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันทำยอม หากไม่ชำระยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ ถ้าไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระจนครบโจทก์ไม่เรียกร้องจากจำเลยที่ 2 อีก เพราะจำเลยที่ 2 ได้ชำระให้โจทก์แล้วจำนวน 150,000 บาท เป็นที่พอใจแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามสัญญายอม โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1ที่จำนองไว้กับโจทก์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 14757, 14758, 14759ตำบลไชยสถาน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ออกขายทอดตลาดและขายหมดไปแล้วเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2531 ในราคารวมทั้งสิ้น 288,000 บาทและศาลจังหวัดน่านได้มีหนังสือลงวันที่ 22 ธันวาคม 2531 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดน่านให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้ซื้อไปแล้ว ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2532 ศาลชั้นต้นได้จ่ายเงินค่าขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวให้โจทก์ไปเรียบร้อยแล้ว
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งนี้อ้างว่าการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้ส่งหมายแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีโอกาสมาคัดค้าน โจทก์กับผู้ซื้อสมคบกันฉ้อฉลเพราะซื้อขายกันในราคาถูกมากความจริงแล้วทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จะขายได้ในราคาไม่น้อยกว่าสองล้านบาท โจทก์แถลงคัดค้านว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจคัดค้านการขายทอดตลาดเพราะขาดอายุความแล้ว ทั้งการขายทอดตลาดได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยที่ 1 ทราบวันนัดขายทอดตลาดโดยชอบแล้วและราคาที่ขายก็เหมาะสมเนื่องจากที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชนบริเวณที่ยังไม่เจริญ ขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2531ศาลชั้นต้นมีหนังสือให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดน่านจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2531 และโจทก์ได้รับเงินค่าขายทรัพย์ดังกล่าวไปจากศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 11มกราคม 2532 เห็นว่า การบังคับคดีสำหรับที่ดินทั้งสามแปลงของจำเลยที่ 1 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้านการบังคับคดี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 จึงเป็นการคัดค้านภายหลังการบังคับคดีเสร็จสิ้นลงแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้รับแจ้งการส่งประกาศขายทอดตลาดก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านก่อนการบังคับคดีได้เสร็จสิ้นลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา296 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาในเรื่องราคาที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าควรใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 มาวินิจฉัยประกอบด้วยนั้น เห็นว่า กระบวนพิจารณาในชั้นนี้มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้ว จึงไม่ต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 มาวินิจฉัยประกอบด้วยอีก ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน