คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123จะกำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้เพียง 5 ประการแต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นนอกเหนือจากเหตุแห่งการเลิกจ้าง 5 ประการดังกล่าวแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างไม่ได้ กรณีเช่นนี้นายจ้างเลิกจ้าง ลูกจ้างที่จะไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จึงต้อง พิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นประการสำคัญ จำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 เป็นลูกจ้างโจทก์โดยทำงานในแผนกข้อมูลข่าวสารซึ่งมีลูกจ้างทั้งหมด 8 คน จำเลยที่ 11ถึงที่ 14 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 ถูกโจทก์เลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ ยุบแผนกที่จำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 ทำงาน แม้ขณะโจทก์ ยุบแผนกดังกล่าวเนื่องจากผลประกอบการในแผนกขาดทุน แต่ผลประกอบการโดยรวมของโจทก์ยังมีกำไร นอกจากนี้โจทก์ย้ายลูกจ้างคนหนึ่งในแผนกดังกล่าวไปทำงาน ในแผนกอื่น แล้วโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 กับพวก หลังจากนั้นโจทก์ได้รับลูกจ้างใหม่เข้าทำงานอีก 7 คนและยังได้รับสมัครลูกจ้างเข้าทำงานทดแทนลูกจ้าง ที่ออกจากงานตลอดมาเช่นนี้ กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเหตุ จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการเลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 เนื่องจาก เหตุดังกล่าวก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้น ตามมาตรา 123 แห่ง พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โจทก์ เลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 72-75/2540
จำเลยทั้งสิบสี่ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 11 ถึงที่ 14เป็นลูกจ้างโจทก์และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์จำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 ทำงานในแผนกข้อมูลข่าวสารซึ่งแผนกดังกล่าวมีลูกจ้างทั้งหมด 8 คน ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2540 โจทก์ยุบแผนกข้อมูลข่าวสารเนื่องจากผลประกอบการในแผนกขาดทุน แต่ผลประกอบการโดยรวมของโจทก์ยังมีกำไรและเลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 กับพวกรวม 7 คน ในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับโดยโจทก์ย้ายนายบุญยิ่ง ไม่ทราบนามสกุล ลูกจ้างในแผนกดังกล่าวไปทำงานในแผนกบรรณาธิการ หลังจากโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 แม้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินโบนัส เงินสะสมส่วนของนายจ้างให้แก่จำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 แล้ว แต่โจทก์รับลูกจ้างใหม่เข้าทำงานรวม 7 คน และรับสมัครลูกจ้างเข้าทำงานทดแทนลูกจ้างที่ออกจากงานตลอดมาเช่นนี้มิใช่เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดทุน หากยอมให้โจทก์กระทำการดังกล่าวก็จะเป็นช่องทางให้โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับโดยตั้งแผนกใหม่ขึ้นหรือโยกย้ายสับเปลี่ยนลูกจ้างที่โจทก์ประสงค์จะเลิกจ้างไปอยู่ในแผนกที่ขาดทุนแล้วต่อมาก็ยุบแผนกนั้น นอกจากนี้การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(1) ถึง (5) โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 ไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่าแม้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 จะกำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้เพียง 5 ประการแต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นนอกเหนือจากเหตุแห่งการเลิกจ้าง 5 ประการดังกล่าวแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างไม่ได้ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3109/2525 ดังที่โจทก์อ้างก็ตามกรณีเช่นนี้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่จะไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จึงต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นประการสำคัญ คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 เป็นลูกจ้างโจทก์โดยทำงานในแผนกข้อมูลข่าวสารซึ่งมีลูกจ้างทั้งหมด 8 คน จำเลยที่ 11 ถึงที่ 14เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง จำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 ถูกโจทก์เลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ยุบแผนกที่จำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 ทำงาน แม้ขณะโจทก์ยุบแผนกดังกล่าวเนื่องจากผลประกอบการในแผนกขาดทุนแต่ผลประกอบการโดยรวมของโจทก์ยังมีกำไร นอกจากนี้โจทก์ย้ายลูกจ้างคนหนึ่งในแผนกดังกล่าวไปทำงานในแผนกอื่นแล้วโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 กับพวก หลังจากนั้นโจทก์ได้รับลูกจ้างใหม่เข้าทำงานอีก 7 คน และยังได้รับสมัครลูกจ้างเข้าทำงานทดแทนลูกจ้างที่ออกจากงานตลอดมา เช่นนี้ กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการเลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 เนื่องจากเหตุดังกล่าว ก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ดังนั้น โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 ถึงที่ 14 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างนั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
พิพากษายืน

Share