คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5461/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การไต่สวนมูลฟ้องหรือการสืบพยานโจทก์ในคดีอาญา โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องมาศาลในนัดต่อมา หากศาลเลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องหรือการสืบพยานโจทก์ไปเนื่องจากยังไม่เสร็จในนัดแรก และการที่ศาลมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เข้ากับคดีที่โจทก์ที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้อง ก็เป็นไปเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาพิพากษา เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ร่วมทั้งสามแม้โจทก์ที่ 3 มาศาล ก็หาทำให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 หลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องมาศาล ตามกำหนดนัดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 ไม่.

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาคดีนี้เข้ากับคดีหมายเลขแดงที่ 4011/2530 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนคดีนี้ว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับและเรียกโจทก์สำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 4011/2530 ว่า โจทก์ที่ 3 คดีคงมีปัญหาขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะสำนวนคดีนี้
สำหรับสำนวนคดีนี้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ชั้นพิจารณาหลังจากสืบพยานโจทก์ทั้งสองสำนวนไปบ้างแล้วศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสองสำนวนต่อไปในวันที่ 23 สิงหาคม2531 โจทก์ที่ 3 มาศาลตามกำหนดนัด โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาให้ยกฟ้องคดีเฉพาะโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งให้พิจารณาคดีของโจทก์ทั้งสองต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่29 สิงหาคม 2531 ว่า กรณียังไม่มีเหตุสมควร ให้ยกคำร้อง
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 23 สิงหาคม 2531
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 29 สิงหาคม 2531 และเห็นว่า คดีมีเหตุสมควรที่จะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดี
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 มิได้โต้เถียงคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ที่ให้งดไต่สวนและให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ต่อไป ว่าไม่ถูกต้องแต่ประการใด คำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 29 สิงหาคม 2531จึงถึงที่สุดแล้วโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นการชอบหรือไม่ นั้น เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 แล้วมีคำพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ใหม่แล้ววินิจฉัยว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ชอบแล้วพิพากษายืน
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เสียนั้น เป็นการชอบหรือไม่ ที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า เมื่อศาลรวมการพิจารณาเข้าเป็นคดีเดียวกัน การฟังพยานหลักฐานตลอดจนการพิพากษาคดีก็ต้องถือเป็นคดีเดียวกัน แม้ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ร่วมทั้งสาม จะมีแต่เพียงโจทก์ที่ 3 มาศาลตามลำพังก็ตาม ก็ต้องถือว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 มาศาลด้วย ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ไม่มาตามกำหนดนัดและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และมีคำสั่งให้ยกฟ้องเฉพาะโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 33 และมาตรา 166 นั้นเห็นว่า การที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 และ181 บัญญัติให้ศาลยกฟ้องคดีที่โจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและในชั้นพิจารณาเสียนั้นก็โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว จึงกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องมาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง และในวันนัดสืบพยานโจทก์หากเป็นกรณีที่การไต่สวนมูลฟ้องหรือสืบพยานโจทก์ยังไม่เสร็จในนัดแรก และศาลเลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องหรือการสืบพยานโจทก์ไป โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องมาศาลในนัดต่อมาเพื่อแถลงให้ศาลทราบว่ายังประสงค์จะให้ดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องหรือสืบพยานโจทก์ต่อไปอย่างไรหรือไม่สำหรับคดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เข้ากับคดีที่โจทก์ที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องก็ตาม ก็เป็นเพียงการรวมพิจารณาพิพากษาคดีเข้าด้วยกันเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาพิพากษาหาทำให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 หลุดพ้นจากหน้าที่ตามบทบัญญัติของมาตรา 166 ดังกล่าวข้างต้นไม่ เมื่อโจทก์ที่ 1ที่ 2 ไม่มาตามกำหนดนัด และไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เสียนั้นจึงเป็นการชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share