คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5446/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

น้ำมันหล่อลื่นของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีไว้เพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 จึงต้องริบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115
เครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ชอบที่จะริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
ขวดพลาสติกเปล่าสำหรับบรรจุน้ำมันหล่อลื่น กล่องกระดาษเปล่า ฝาครอบขวดน้ำมัน กระดาษฟอยล์ปิดปากขวด ม้วนเศษกระดาษฟอยล์สำหรับปิดปากขวดบรรจุน้ำมันซึ่งบรรจุอยู่ในถุง กล่องกระดาษที่ใช้สำหรับบรรจุแกลลอนน้ำมัน สติกเกอร์ติดขวด และแกลลอนเปล่าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรดังกล่าวนั้น แม้ไม่อาจถือว่าเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค่าน้ำมันหล่อลื่น โดยยังอยู่ในขั้นตระเตรียมการทำความผิด แต่ของกลางดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ชอบที่ศาลจะสั่งให้ริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
เมื่อน้ำมันหล่อลื่นของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบมาตรา 50 และเครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและทรัพย์สินที่ต้องส่งมอบแก่กรมธุรกิจพลังงานเพื่อทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควรต่อไปตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 61

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110 และ 115 พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 4, 25, 49, 50, 51, 60 และ 61 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 และ 91 ริบของกลางในส่วนที่เป็นภาชนะและวัสดุประกอบเป็นภาชนะสำหรับบรรจุและห่อหุ้มเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่น ส่วนของกลางสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งที่เป็นน้ำมันหล่อลื่นและไม่ใช่น้ำมันหล่อลื่น รวมทั้งเครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันดังกล่าว ให้ส่งมอบแก่กรมธุรกิจพลังงานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยหากต้องทำลายของกลาง ให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินการดังกล่าวแก่กรมธุรกิจพลังงาน
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทเอลฟ์อากีแตน จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต (ที่ถูก อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 เท่านั้น)
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108, 110 (ที่ถูก มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108), 114 และ 115 พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49, 50, 51, 60 และ 61 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 และ 91 เป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ให้ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 300,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 300,000 บาท ฐานร่วมกันปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันหล่อลื่นที่มีลักษณะและคุณภาพแตกต่างไปจากที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนด ให้ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 300,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 300,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 600,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 ปี และปรับคนละ 600,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน และกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 และที่ 3 เห็นสมควรมีกำหนดเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางส่วนที่เป็นภาชนะและวัสดุประกอบเป็นภาชนะสำหรับบรรจุและห่อหุ้มเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่น ส่วนสินค้าของกลางสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งที่เป็นน้ำมันหล่อลื่นและไม่ใช่น้ำมันหล่อลื่นรวมทั้งเครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันดังกล่าวให้ส่งมอบแก่กรมธุรกิจพลังงานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยหากต้องทำลายของกลาง ให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ร่วมกันชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินการดังกล่าวแก่กรมธุรกิจพลังงาน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันกระทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่าหากนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแตกรั่วของขวดน้ำมันหล่อลื่นตามคำเบิกความของนายสนองจิตรมาคำนวณหาปริมาณน้ำมันหล่อลื่นที่นำมาบรรจุใหม่เนื่องจากบรรจุภัณฑ์แตกรั่วแต่ละเดือนแล้ว ปริมาณน้ำมันหล่อลื่นที่นำมาบรรจุใหม่ดังกล่าวน่าจะมีจำนวนอยู่ระหว่าง 390 ถึง 660 ลิตร ต่อเดือน เท่านั้น และนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2551 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 กับบริษัทโทเทิลออยล์เอเชีย – แปซิฟิก พีทีอี จำกัด เลิกสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายลงวันที่ 19 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2552 ซึ่งเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นเป็นเวลารวม 8 เดือนเศษ แล้ว ปริมาณน้ำมันหล่อลื่นที่นำมาบรรจุใหม่เนื่องจากขวดบรรจุสินค้าแตกรั่วน่าจะมีจำนวนอยู่ระหว่าง 3,200 ถึง 5,500 ลิตร เท่านั้น แต่เจ้าพนักงานกลับยึดได้น้ำมันหล่อลื่นบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร ทั้งที่โรงงานและโกดัง ตามบัญชีของกลางคดีอาญา ได้จำนวนถึง 69,478 ขวด จึงไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อว่าน้ำมันหล่อลื่นของกลางจะเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่นำมาบรรจุใหม่ทั้งหมด และในการส่งตัวอย่างน้ำมันหล่อลื่นไปตรวจพิสูจน์นั้นพันตำรวจโทสุมิตรก็ได้สุ่มตัวอย่างจากของกลางทั้งหมดไปตรวจพิสูจน์ด้วย แม้จำเลยทั้งสามจะมีใบรับการเรียกร้องค่าสินค้าที่ได้รับความเสียหาย มาแสดงว่ามีน้ำมันหล่อลื่นที่ลูกค้าส่งคืนเนื่องจากขวดบรรจุสินค้าแตกรั่วและนำมาบรรจุใหม่ก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวมีเพียงบางรายการเท่านั้นที่ระบุยี่ห้อว่าเป็นน้ำมันหล่อลื่น “elf” ซึ่งคิดได้จำนวนเพียง 61 กล่อง และจำเลยทั้งสามก็ไม่ได้นำลูกค้าที่ส่งคืนสินค้ามาเบิกความยืนยันด้วยว่าได้ส่งสินค้าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อ “elf” คืนจำเลยที่ 1 ตามใบรับการเรียกร้องค่าเสียหายสำหรับสินค้าดังกล่าวจริงหรือไม่ ดังกล่าวจึงยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ ตามเอกสารนั้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่ว่า น้ำมันหล่อลื่นของกลางที่ส่งไปตรวจพิสูจน์เป็นสินค้าที่ขวดบรรจุแตกรั่วและนำมาบรรจุใหม่ซึ่งเผชิญกับความร้อนและฝุ่นทำให้เสื่อมคุณภาพได้นั้น จึงฟังไม่ขึ้น แม้ตัวอย่างน้ำมันหล่อลื่นของกลางที่ส่งไปตรวจพิสูจน์จะมีจำนวนเพียง 4 ขวด แต่พันตำรวจโทสุมิตรผู้ตรวจค้นเบิกความยืนยันว่า ได้สุ่มเอาตัวอย่างดังกล่าวจากของกลางที่ยึดได้ในที่เกิดเหตุทั้งหมด และพันตำรวจโทสายัณห์ พนักงานสอบสวนก็เบิกความยืนยันว่า ได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่ตรวจพิสูจน์แล้วว่าต้องส่งไปจำนวนเท่าใดด้วย ดังนั้น น้ำมันหล่อลื่นของกลางจำนวน 4 ตัวอย่าง ซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างจึงมีความน่าเชื่อถือและรับฟังได้ว่าเป็นตัวอย่างแทนของกลางทั้งหมดได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนข้อที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยตรวจสอบน้ำมันหล่อลื่นที่สั่งซื้อมาก่อนนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบลักษณะและคุณภาพน้ำมันหล่อลื่นว่าเป็นไปตามที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดหรือตามที่ขออนุญาตไว้หรือไม่ และเมื่อไม่ปรากฏว่าน้ำมันหล่อลื่นที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากบริษัทโทเทิลออยล์เอเชีย – แปซิฟิก พีทีอี จำกัดเคยมีลักษณะและคุณภาพไม่เป็นไปตามที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดหรือไม่เป็นไปตามที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานให้ความเห็นชอบไว้มาก่อนที่จำเลยที่ 1 จะถูกดำเนินคดีนี้ จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบน้ำมันหล่อลื่นที่สั่งซื้อมาก่อนเกิดเหตุคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีก เช่นนี้ พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อควรสงสัยว่าน้ำมันหล่อลื่นของกลางที่เจ้าพนักงานยึดได้ในคดีนี้ไม่มีลักษณะและคุณภาพตามที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดและตามที่ขอความเห็นชอบไว้จากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองน้ำมันหล่อลื่นซึ่งมีลักษณะหรือคุณภาพแตกต่างจากที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบไว้จำนวนถึงเกือบ 7,000 ลิตร และน้ำมันหล่อลื่นดังกล่าวถือว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงตามคำจำกัดความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ซึ่งตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีลักษณะหรือคุณภาพแตกต่างจากที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มีปริมาณตั้งแต่ 200 ลิตร ขึ้นไป ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นผู้กระทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย…” การที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันหล่อลื่นอันมีลักษณะหรือคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงแตกต่างจากที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบเป็นจำนวนเกือบ 7,000 ลิตร จึงเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นผู้ปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานหักล้างข้อสันนิษฐานตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำสืบพยานหลักฐานหักล้างว่าน้ำมันหล่อลื่นของกลางมีลักษณะหรือคุณภาพตามที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบไว้อย่างไร หรือพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งน้ำมันหล่อลื่นโดยไม่ทราบว่าเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่มีลักษณะหรือคุณภาพแตกต่างจากที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง อย่างไร พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันกระทำการปลอมปนน้ำมันหล่อลื่นอันเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันทำให้ลักษณะหรือคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงแตกต่างไปจากที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบเพื่อจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีลักษณะหรือคุณภาพแตกต่างจากที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานกำหนดหรือให้ความเห็นชอบอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลให้การดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 บัญญัติไว้ แต่กลับไม่ควบคุมดูแลให้จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าน้ำมันให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยปล่อยให้มีการปลอมปนน้ำมันหล่อลื่นและจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นซึ่งมีการปลอมปนดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานดังกล่าวส่วนจำเลยที่ 3 นั้นไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันร่วมทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันทำให้ลักษณะหรือคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงแตกต่างไปจากที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบเพื่อจำหน่าย พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย
ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าน้ำมันหล่อลื่น “elf 4T Super Sport” ขนาดบรรจุ 1 ลิตร จำนวน 4,564 ขวด ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรคำว่า “elf” และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมและร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าน้ำมันหล่อลื่น “elf moto4 4T EXTRA” ขนาดบรรจุ 1 ลิตร จำนวน 2,160 ขวด ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรคำว่า “elf” และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายลงวันที่ 19 มกราคม 2544 ที่ให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ในการใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรคำว่า “elf” สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไป การที่จำเลยที่ 1 สั่งบริษัทปัญจะวัฒนามาร์เก็ตติ้ง จำกัด ให้ผลิตบรรจุภัณฑ์และวัสดุภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรคำว่า “elf” ของโจทก์ร่วมในปี 2552 โดยอ้างว่าเพื่อรองรับการสั่งซื้อน้ำมันหล่อลื่นจากบริษัทโทเทิลออยล์เอเชีย – แปซิฟิก พีทีอี จำกัด ในเดือนธันวาคม 2551 โดยไม่ปรากฏว่าบริษัทโทเทิลออยล์เอเชีย – แปซิฟิก พีทีอี จำกัด ตอบรับการสั่งซื้อดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งขณะสั่งซื้อน้ำมันหล่อลื่นดังกล่าวก็เป็นเวลาใกล้เลิกสัญญาแล้ว ซึ่งหากบริษัทดังกล่าวไม่ส่งน้ำมันหล่อลื่นมาให้จำเลยที่ 1 ตามที่สั่งซื้อไว้ การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ผลิตบรรจุภัณฑ์และวัสดุจำนวนมากเผื่อไว้โดยยังไม่มีความแน่นอนว่าบริษัทดังกล่าวจะส่งน้ำมันหล่อลื่นมาให้จำเลยที่ 1 ตามที่สั่งซื้อย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เป็นอย่างมาก จึงยังไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อว่าการสั่งให้ผลิตบรรจุภัณฑ์และวัสดุสิ่งของที่มีเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรคำว่า “elf” ของโจทก์ร่วมที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางจะเป็นการที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ผลิตเพื่อรองรับการสั่งซื้อดังกล่าวจริงดังที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ แต่พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งผลิตบรรจุภัณฑ์และวัสดุที่มีเครื่องหมายการค้า “elf” ของโจทก์ร่วมโดยรู้อยู่ว่าไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวหลังจากสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่าย สิ้นสุดลงแล้ว ประกอบกับปรากฏตามภาพถ่ายของกลางใน ว่าสินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้ชื่อในทางการค้าว่า “elf 4T Super Sport” ตามบัญชีของกลาง ลำดับที่ 5 ขนาดบรรจุ 1 ลิตร จำนวน 3,412 ขวด และลำดับที่ 12 จำนวน 1,152 ขวด รวมจำนวน 4,564 ขวด ระบุวันที่ผลิตในปี 2552 ซึ่งเป็นการผลิตหลังจากสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่าย สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 แล้ว พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อว่า สินค้าน้ำมันหล่อลื่น “elf 4T Super Sport” ขนาดบรรจุ 1 ลิตร จำนวน 4,564 ขวด และน้ำมันหล่อลื่น “elf moto4 4T EXTRA” ขนาดบรรจุ 1 ลิตร จำนวน 2,160 ขวด ที่เจ้าพนักงานยึดได้เป็นของกลางจากบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 มีเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “elf” ของโจทก์ร่วมซึ่งบริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิใช้ติดอยู่ อันถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “elf” ของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าน้ำมันหล่อลื่น “elf 4T Super Sport” ขนาดบรรจุ 1 ลิตร จำนวน 4,564 ขวด และน้ำมันหล่อลื่น “elf moto4 4T EXTRA” ขนาดบรรจุ 1 ลิตร จำนวน 2,160 ขวด ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรคำว่า “elf” ของโจทก์ร่วมอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวด้วยนั้น ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการโรงงานของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมรู้เห็นในการมีสินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” ปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “elf” ของโจทก์ร่วมไว้เพื่อจำหน่ายอย่างไร คงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 เองเพียงว่า จำเลยที่ 3 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถูกบอกเลิกสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่าย เท่านั้น แต่ไม่มีรายละเอียดว่าจำเลยที่ 3 รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเมื่อใด เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างไร พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาจึงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการโรงงานของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงดูแลการผลิตให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอให้ศาลรับฟังได้โดยปราศจากข้อควรสงสัยว่าจำเลยที่ 3 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการมีสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “elf” ของโจทก์ร่วมไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้คืนของกลางทั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เมื่อน้ำมันหล่อลื่น “elf 4T Super Sport” ขนาดบรรจุ 1 ลิตร จำนวน 4,564 ขวด และน้ำมันหล่อลื่น “elf moto4 4T EXTRA” ขนาดบรรจุ 1 ลิตร จำนวน 2,160 ขวด รวมจำนวน 6,724 ขวด ของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “elf” ของโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จึงต้องริบ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 ส่วนเครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง 1 เครื่อง ของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ดังกล่าว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะริบได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ส่วนขวดพลาสติกเปล่าสำหรับบรรจุน้ำมันหล่อลื่นขนาด 1 ลิตร ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” จำนวน 97,390 ขวด กล่องกระดาษเปล่าที่ใช้บรรจุขวดน้ำมันหล่อลื่นขนาด 1 ลิตร ซึ่งมีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” จำนวน 1,160 กล่อง ฝาครอบขวดน้ำมันที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” จำนวน 10,900 ฝา กระดาษฟอยล์ปิดปากขวดจำนวน 60 ม้วน เศษกระดาษฟอยล์สำหรับปิดปากขวดบรรจุน้ำมันซึ่งบรรจุอยู่ในถุงจำนวน 14 ถุง กล่องกระดาษที่ใช้สำหรับบรรจุแกลลอนน้ำมันขนาด 5 ลิตร ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” จำนวน 2,300 กล่อง สติกเกอร์ติดขวดที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” จำนวน 33 ม้วน และแกลลอนเปล่าขนาด 5 ลิตร ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” จำนวน 2,672 ใบ ของกลางนั้น แม้จะไม่ใช่สินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “elf” ของโจทก์ร่วม เพราะยังอยู่ในขั้นตระเตรียมกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “elf” ของโจทก์ร่วม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ก็ตาม แต่ของกลางดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานดังกล่าว ชอบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จะสั่งให้ริบได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) เมื่อน้ำมันหล่อลื่นจำนวน 6,724 ขวด ของกลางข้างต้นซึ่งต้องริบตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบมาตรา 50 และเครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง 1 เครื่อง ของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ควรริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) จึงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและทรัพย์สินที่ต้องส่งมอบแก่กรมธุรกิจพลังงานเพื่อทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควรต่อไป ตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 61 แต่สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง “elf 2T Super Sport” จำนวน 62,754 ขวด ของกลางที่โจทก์ฟ้องมาเฉพาะข้อหาร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 นั้น เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้พิพากษาลงโทษในความผิดฐานดังกล่าว โดยโจทก์หรือโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์ ทั้งทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้รับฟังได้ว่าน้ำมันจำนวนดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ร่วมหรือไม่ น้ำมันเชื้อเพลิง “elf 2T Super Sport” จำนวน 62,754 ขวด ดังกล่าวจึงไม่เป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำหรือมีไว้เป็นความผิดอันจะริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า ริบของกลางส่วนที่เป็นภาชนะและวัสดุประกอบเป็นภาชนะสำหรับบรรจุและห่อหุ้มเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่น ส่วนสินค้าของกลางสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งที่เป็นน้ำมันหล่อลื่นและไม่ใช่น้ำมันหล่อลื่นรวมทั้งเครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันดังกล่าวให้ส่งมอบแก่กรมธุรกิจพลังงานเพื่อดำเนินการต่อไปนั้น เป็นคำพิพากษาที่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นของกลางรายการใดบ้าง ของกลางแต่ละรายการสั่งให้ริบโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มาตราใด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องชัดเจน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบมาตรา 50 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 300,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และปรับ 300,000 บาท ฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันร่วมกันกระทำการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบมาตรา 50 ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 300,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 300,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 600,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 รวม 3 ปี และปรับ 600,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน และให้จำเลยที่ 2 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 หากไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ริบน้ำมันหล่อลื่น “elf 4T Super Sport” ขนาดบรรจุ 1 ลิตร จำนวน 4,564 ขวด และน้ำมันหล่อลื่น “elf moto4 4T EXTRA” ขนาดบรรจุ 1 ลิตร จำนวน 2,160 ขวด รวมจำนวน 6,724 ขวด ของกลาง ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 ริบเครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง 1 เครื่อง ของกลาง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) แล้วให้ส่งมอบน้ำมันหล่อลื่นรวมจำนวน 6,724 ขวด และเครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง 1 เครื่อง ของกลางที่ศาลมีคำพิพากษาให้ริบดังกล่าวแก่กรมธุรกิจพลังงานเพื่อทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควรต่อไป หากต้องทำลายน้ำมันเชื้อเพลิงปลอมปนและเครื่องจักรดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้แก่กรมธุรกิจพลังงาน ตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2534 มาตรา 61 ให้ริบขวดพลาสติกเปล่าสำหรับบรรจุน้ำมันหล่อลื่น ขนาด 1 ลิตร ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” จำนวน 97,390 ขวด กล่องกระดาษเปล่าที่ใช้บรรจุขวดน้ำมันหล่อลื่นขนาด 1 ลิตร ซึ่งมีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” จำนวน 1,160 กล่อง ฝาครอบขวดน้ำมันที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” จำนวน 10,900 ฝา กระดาษฟอยล์ปิดปากขวดจำนวน 60 ม้วน เศษกระดาษฟอยล์สำหรับปิดปากขวดบรรจุน้ำมันซึ่งบรรจุอยู่ในถุงจำนวน 14 ถุง กล่องกระดาษที่ใช้สำหรับบรรจุแกลลอนน้ำมันขนาด 5 ลิตร ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” จำนวน 2,300 กล่อง สติกเกอร์ติดขวดที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” จำนวน 33 ม้วน และแกลลอนเปล่าขนาด 5 ลิตร ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “elf” จำนวน 2,672 ใบ ของกลาง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ให้ยกคำขอให้ริบน้ำมันเชื้อเพลิง “elf 2T Super Sport” จำนวน 62,754 ขวด ของกลาง

Share