คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445-5565/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้โดยพิจารณาว่าโจทก์ทุกคนยังเป็นลูกจ้างอยู่จนถึงวันสิ้นงวดบัญชีและผลการปฏิบัติงานที่ผู้บังคับบัญชาประเมินเท่านั้น ถึงแม้จำเลยจะกำหนดอัตราการจ่ายโบนัสไว้ชัดเจนโดยคำนวณจากฐานเงินเดือนของโจทก์แต่ละคนเป็นจำนวนแน่นอนก็ตาม แต่ก็มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของวันทำงาน ทั้งข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานที่ทำขึ้นก็ระบุว่า เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติภาระหน้าที่ของพนักงาน เงินโบนัสที่จำเลยจ่ายเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานให้ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานจึงไม่ใช่ค่าจ้าง
ศาลแรงงานไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายโบนัสโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์เพื่อให้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายโบนัสโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54วรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุให้จำเลยจ่ายโบนัสปีละ 2 ครั้ง ภายหลังการปิดบัญชีประจำงวด ทั้งคู่มือการบริหารงานบุคคลก็ระบุให้จำเลยจ่ายโบนัสปีละ 2 ครั้ง ส่วนวันปิดบัญชีประจำงวดหมายถึงวันสิ้นเดือนมิถุนายนและธันวาคมของปี มีความหมายว่า ให้มีการจ่ายโบนัสหลังวันสิ้นเดือนดังกล่าว ซึ่งโดยสภาพกำหนดไว้กว้าง ๆ ว่า ต้องจ่ายก่อนการจ่ายโบนัสงวดถัดไปเท่านั้น การพิจารณาว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับโบนัสงวดแรกของปี 2541 หรือไม่ ต้องพิจารณาตามข้อบังคับการทำงานดังกล่าวโดยพิจารณาจากสถานภาพการเป็นพนักงานและผลการปฏิบัติงานถึงวันสิ้นงวดบัญชีอันได้แก่วันสิ้นเดือนมิถุนายน 2541 เมื่อโจทก์ทุกคนมีสถานภาพการเป็นพนักงานอยู่ในวันสิ้นเดือนมิถุนายน 2541 และผลการปฏิบัติงานผ่านการประเมินของผู้บังคับบัญชา สิทธิได้รับโบนัสงวดแรกของปี 2541 ของโจทก์ทุกคนย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันสิ้นเดือนมิถุนายน 2541
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานที่จะมีผลผูกพันลูกจ้างนั้นต้องเป็นข้อตกลงตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 19 วรรคสอง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นใหม่จะผูกพันเฉพาะลูกจ้างซึ่งทำงานอยู่กับนายจ้างในขณะทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเท่านั้น เมื่อโจทก์ทุกคนลาออกก่อนที่จำเลยกับสหภาพแรงงาน ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ย่อมมีผลว่าขณะสภาพการจ้างเปลี่ยนแปลงไปตามข้อตกลงใหม่โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยและมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่จึงไม่ผูกพันโจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดสำนวน ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 121
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดสำนวนฟ้องทำนองเดียวกัน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายโบนัสและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของเงินโบนัสที่ค้างทุกระยะ 7 วัน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะจ่ายเสร็จแก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดตามฟ้องแต่ละสำนวน
จำเลยทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายโบนัสพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแต่ละสำนวนแก่โจทก์ทั้ง 121 คน (โจทก์ทั้ง 121 คน ฟ้องเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2543) รายละเอียดจำนวนเงินโบนัสของโจทก์แต่ละรายอยู่ในช่องโบนัสที่เรียกเพิ่มตามบัญชีท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
โจทก์และจำเลยทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดประการแรกว่า เงินโบนัสที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทุกคนเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ส่วนเงินโบนัสจำเลยจ่ายให้โดยพิจารณาว่าโจทก์ทุกคนยังเป็นลูกจ้างอยู่จนถึงวันสิ้นงวดบัญชีและผลการปฏิบัติงานที่ผู้บังคับบัญชาประเมินเท่านั้น ถึงแม้จำเลยจะกำหนดอัตราการจ่ายโบนัสไว้ชัดเจนโดยคำนวณจากฐานเงินเดือนของโจทก์แต่ละคนเป็นจำนวนแน่นอนก็ตาม แต่ก็มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของวันทำงาน ทั้งข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพที่ทำขึ้น (ในคดีหมายเลขดำที่ 11671 – 16703/2542 ของศาลแรงงานกลาง) ข้อ 4 วรรคสอง ระบุว่า เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติภาระหน้าที่ของพนักงาน จำเลยตกลงให้โบนัสพิเศษแก่พนักงาน ดังนี้จะเห็นได้ว่า เงินโบนัสที่จำเลยจ่ายเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานให้ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงไม่ใช่ค่าจ้าง อุทธรณ์โจทก์ทั้งหมดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดอุทธรณ์ประการที่สองว่า จำเลยจงใจไม่จ่ายโบนัส โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายโบนัสโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์เพื่อให้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายโบนัสโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนจำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่ได้กำหนดวันจ่ายโบนัสที่แน่นอนไว้ ในวันลาออกจากงานโจทก์ทุกคนยังไม่มีสิทธิเรียกร้องโบนัสงวดแรกของปี 2541 จากจำเลย ในระหว่างเวลาดังกล่าวจำเลยมีสิทธิขอให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเรื่องโบนัสตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 สิทธิรับโบนัสของโจทก์ทุกคนเพิ่งเกิดขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่กับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ ถ้าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นใหม่ไม่ผูกพันโจทก์ทุกคน ทั้งโจทก์ทุกคนไม่อาจอ้างเอาสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งสิ้นผลไปแล้วโจทก์ทุกคนจึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัสนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุให้จำเลยจ่ายโบนัสปีละ 2 ครั้ง ภายหลังการปิดบัญชีประจำงวด ทั้งคู่มือการบริหารงานบุคคลก็ระบุให้จำเลยจ่ายโบนัสปีละ 2 ครั้ง ส่วนวันปิดบัญชีประจำงวดหมายถึงวันสิ้นเดือนมิถุนายนและธันวาคมของปี เช่นนี้จึงมีความหมายว่า ให้มีการจ่ายโบนัสหลังวันสิ้นเดือนดังกล่าว ซึ่งโดยสภาพกำหนดไว้กว้าง ๆ ว่าต้องจ่ายก่อนการจ่ายโบนัสงวดถัดไปเท่านั้น ดังนั้น การพิจารณาว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับโบนัสงวดแรกของปี 2541 หรือไม่ ต้องพิจารณาตามข้อบังคับการทำงานดังกล่าวโดยพิจารณาจากสถานภาพการเป็นพนักงานและผลการปฏิบัติงานถึงวันสิ้นงวดบัญชีอันได้แก่วันสิ้นเดือนมิถุนายน 2541 เมื่อโจทก์ทุกคนมีสถานภาพการเป็นพนักงานอยู่ในวันสิ้นเดือนมิถุนายน 2541 และผลการปฏิบัติงานผ่านการประเมินของผู้บังคับบัญชาสิทธิได้รับโบนัสงวดแรกของปี 2541 ของโจทก์ทุกคนย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันสิ้นเดือนมิถุนายน 2541 อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นองค์กรย่อมได้แก่ (ผูกพัน) โจทก์ทุกคนโดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพหรือไม่ ดังนั้น เมื่อสภาพการจ้างเดิมถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงไป สิทธิของโจทก์ทุกคนย่อมถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงไปด้วยโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ยังเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพหรือไม่เช่นกันนั้น เห็นว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานที่จะมีผลผูกพันลูกจ้างนั้นต้องเป็นข้อตกลงตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 19 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำโดยนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงานหรือลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกัน โดยมีลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันเป็นสมาชิกหรือร่วมกันในการเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกินกว่าสองในสามของลูกจ้างทั้งหมด ให้ถือว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันนั้นทุกคน จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะผูกพันเฉพาะลูกจ้างซึ่งทำงานอยู่กับนายจ้างในขณะทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเท่านั้น เมื่อโจทก์ทุกคนลาออกก่อนที่จำเลยกับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพจะทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ดังนั้น ขณะสภาพการจ้างเปลี่ยนแปลงไปตามข้อตกลงใหม่นี้โจทก์ทุกคนไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยและมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่ดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ทั้งหมด ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์และจำเลยทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share