แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัท ส. ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดสรรที่ดินชื่อโครงการไดร์อิน ต่อมาปี 2528 บริษัท ส. ปิดโครงการดังกล่าวโดยที่ยังขายที่ดินไม่หมด ผู้ถือหุ้นในบริษัท ฯ จึงตกลงแบ่งปันทรัพย์สินของบริษัท ส. ในส่วนที่เหลืออยู่ โจทก์ได้รับแบ่งปันที่ดินประมาณ 20 แปลง แต่เนื่องจากโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัท ส. จะใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไม่ได้ เพราะเป็นปรปักษ์แก่กันตามหนังสือของกรมที่ดิน และเวลาขายต่อจะต้องขออนุญาตจัดสรรที่ดินอีกครั้งหนึ่ง โจทก์จึงจะได้กระจายใส่ชื่อบุคคล ซึ่งโจทก์ไว้วางใจให้ถือแทนหลายราย ข. เป็นลูกจ้างโจทก์คนหนึ่ง ซึ่งโจทก์ให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปดแปลงแทนโจทก์ และโจทก์ได้จำนองที่ดินดังกล่าวค้ำประกันหนี้ของโจทก์ที่ธนาคาร และโจทก์นำสืบว่านอกจากที่ดินทั้งแปดแปลงแล้ว โจทก์ยังดำเนินการให้ผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนอีกหลายแปลง การกระทำของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์สมคบกับ ข. และผู้อื่นกระทำการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน และหลีกเลี่ยงเงื่อนไขของ ป.พ.พ. มาตรา 80 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การที่โจทก์ฟ้องเพื่อขอคืนที่ดินทั้งแปดแปลงจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งยึดทรัพย์ที่ดินทั้งแปดแปลง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งกรมสรรพากรที่ สภ.2/92/2541 ที่สั่งยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 130257 ถึง 130264 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และคืนทรัพย์ที่ยึดแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 50,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ระบุไว้ว่า เดิมที่ดินทั้งแปดแปลงเป็นของบริษัท ส. ไชยกมลพัฒนาการ จำกัด ซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจจัดสรรที่ดินชื่อโครงการไดร์อิน ต่อมาปี 2528 บริษัทฯ ปิดโครงการดังกล่าวโดยที่ยังขายที่ดินไม่หมด ผู้ถือหุ้นในบริษัทฯ จึงตกลงแบ่งปันทรัพย์สินของบริษัทฯ ในส่วนที่เหลืออยู่โจทก์ได้รับแบ่งปันที่ดินประมาณ 20 แปลง แต่เนื่องจากโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทฯ จะใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไม่ได้ เพราะเป็นปรปักษ์แก่กันตามหนังสือของกรมที่ดินและเวลาขายต่อจะต้องขออนุญาตจัดสรรที่ดินอีกครั้งหนึ่ง โจทก์จึงได้กระจายใส่ชื่อบุคคล ซึ่งโจทก์ไว้วางใจให้ถือแทนหลายรายนายขนบธรรมเป็นลูกจ้างโจทก์คนหนึ่ง จึงให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งแปดแปลงแทนโจทก์และโจทก์นำไปจำนองค้ำประกันหนี้ของโจทก์ที่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาเทเวศร์ และโจทก์นำสืบว่า นอกจากที่ดินทั้งแปดแปลงแล้ว โจทก์ยังดำเนินการให้ผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนอีกหลายแปลง เช่นนางสาววรมิตา ที่จังหวัดระยอง นายนิพนธ์ ที่จังหวัดชลบุรี นางสาววิมล ที่จังหวัดนครราชสีมา และนางสาวอังคณา ที่จังหวัดระยอง โดยโจทก์จะให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนทุกคนทำหนังสือสำคัญการถือกรรมสิทธิ์แทน พร้อมทั้งยึดถือโฉนดที่ดิน ใบมอบอำนาจลงลายมือชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องไว้ เนื่องจากโจทก์ทราบข่าวว่าทางราชการจะออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินจำกัดการถือครองที่ดินและโจทก์มีที่ดินในครอบครองหลายร้อยแปลงจำนวนหลายพันไร่ แต่เฉพาะที่ดิน 8 แปลง ที่ให้นายขนบธรรมถือกรรมสิทธิ์แทนนั้น โจทก์ให้นายขนบธรรมจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของโจทก์ที่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาเทเวศร์ เห็นว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์สมคบกับนายขนบธรรมและผู้อื่นกระทำการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน และหลีกเลี่ยงเงื่อนไขของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินการที่โจทก์มาฟ้องเพื่อขอคืนที่ดินทั้งแปดแปลงจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งตามคำขอท้ายฟ้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 20,000 บาท.