คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2195/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกันเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีประมวลรัษฎากรมาตรา72วรรคสองให้ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีดังนั้นเมื่อเจ้าพนักงานจดทะเบียนเลิกห้างโจทก์ในวันที่10เมษายน2524จึงต้องถือว่าวันที่10เมษายน2524เป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โจทก์ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีภายใน150วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา69เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจตามประมวลรัษฎากรมาตรา71(1)ที่จะประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ5ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆแม้โจทก์จะส่งมอบบัญชีและเอกสารในภายหลังก็ไม่ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวหมดสิ้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์มิได้ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร และเจ้าพนักงานประเมินกำหนดยอดรายรับของโจทก์เป็นเงิน 7,882,411.33 บาท กับได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เป็นเงิน 394,120 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบเหตุที่โจทก์มิได้ยื่นงบดุลภายในกำหนดเวลา 150 วัน เพราะโจทก์ประสบการขาดทุนและเลิกประกอบกิจการ พนักงานบัญชีลาออกไปโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการยื่นงบดุลทั้งการจดทะเบียนเลิกห้างที่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จ ถือไม่ได้ว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทมิได้รับจดทะเบียนเลิกห้าง ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยให้การว่า เป็นหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายที่จะต้องยื่นรายการที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีเกี่ยวกับรายรับรายจ่ายต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมบัญชีงบดุลภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี เมื่อโจทก์เลิกห้างก็ถือวันที่โจทก์จดทะเบียนเลิกห้างเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี การที่โจทก์อ้างว่าพนักงานบัญชีลาออกไปก็ดี โจทก์ประสบการขาดทุนไม่ต้องเสียภาษีก็ดี ย่อมไม่ถูกต้องโจทก์จดทะเบียนเลิกห้างวันใดกฎหมายถือว่าเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โจทก์จะอ้างว่าวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชียังไม่เกิดขึ้นไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ต่อมาโจทก์จดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2524 โดยมีนาย วิโรจน์ ธรรมรุ่งพิทักษ์ หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ชำระบัญชี ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนั้นยังไม่เสร็จสิ้นการชำระบัญชี หลังจากโจทก์จดทะเบียนเลิกห้างแล้ว โจทก์มิได้ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2524 โจทก์จึงถูกเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2529ถึงวันที่ 30 เมษายน 2529 ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย เป็นเงินค่าภาษีจำนวนทั้งสิ้น 394,120 บาท โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยยืนตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์จดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 10เมษายน 2524 แต่ยังอยู่ระหว่างการชำระบัญชี จึงถือว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครยังมิได้รับจดทะเบียนเลิกห้างโจทก์โดยเด็ดขาด ดังนั้นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจึงยังไม่เกิดขึ้นตามมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น มาตรา 72 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ว่าในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกันเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีให้ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี เมื่อเจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกห้างโจทก์ในวันที่ 10 เมษายน 2524จึงต้องถือว่าวันที่ 10 เมษายน 2524 เป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมา
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการยื่นงบดุลแต่ที่โจทก์ไม่ได้จัดทำงบดุลยื่นต่อจำเลยตามกำหนดเวลานั้นเป็นเพราะนางสาว วไลพร ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดทำงบดุลและยื่นงบดุลนั้นได้ลาออกไปโดยมิได้บอกกล่าวให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ทราบ แต่เมื่อเจ้าพนักงานประเมินออกหมายให้โจทก์นำสมุดบัญชีและเอกสารการลงบัญชีไปให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบและไต่สวน โจทก์ก็ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานประเมินจึงใช้อำนาจการประเมินตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรไม่ได้นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ข้อแก้ตัวของโจทก์ในการที่ไม่ยื่นงบดุลดังกล่าวนั้นไม่อาจรับฟังได้ ทั้งเห็นได้ชัดว่าโจทก์ไม่เอาใจใส่ในการยื่นงบดุลเท่าที่ควร เมื่อโจทก์ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 69 เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) แม้โจทก์ส่งมอบบัญชีและเอกสารในภายหลังตามที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายให้โจทก์ส่งก็หาทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 71(1) ดังกล่าวหมดสิ้นไปไม่ และการที่โจทก์ส่งมอบบัญชีและเอกสารดังกล่าวเป็นการช่วยให้เจ้าพนักงานประเมินสามารถคำนวณภาษีตามมาตรา 71(1) ได้ถูกต้องเป็นธรรมยิ่งขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ยอดรายรับที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาคำนวณภาษีจากโจทก์ไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าโจทก์นำสืบเกี่ยวกับยอดรายรับของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ เช่นรายรับจากการขายน้ำมันซึ่งโจทก์นำสืบว่าโจทก์มีรายรับเพียง 1,226,766 บาท ทั้ง ๆที่ปรากฎหลักฐานว่าโจทก์ซื้อน้ำมันมาจำนวน 507,000 ลิตร เป็นเงิน3,433,290 บาท ดังนั้นที่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ขายน้ำมันไปทั้งหมดเป็นเงิน 3,494,670 บาท ซึ่งมีกำไรเพียงเล็กน้อยจึงชอบแล้ว ในเมื่อโจทก์ไม่มีใบเสร็จรับเงินมาให้ตรวจสอบพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับรายรับของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย นอกจากนี้ยังปรากฏชัดว่าหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์มอบอำนาจให้นางสาว นฤมล โชคนพคุณ ไปชี้แจงให้ถ้อยคำและตอบข้อซักถามของเจ้าพนักงานเกี่ยวกับเรื่องภาษีอากรตลอดจนการให้ถ้อยคำยินยอมหรือปฏิเสธการรับผิดที่จะเสียภาษีอากรใด ๆ แทน โดยประทับตราของห้างโจทก์ไว้ในหนังสือมอบอำนาจด้วย ปรากฏตามสำเนาใบมอบอำนาจเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 ตามคำให้การของนางสาว นฤมล ในสำนวนการตรวจสอบไต่สวนเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 98 นางสาว นฤมล ยอมรับว่าในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 30เมษายน 2529 นั้น โจทก์มีรายรับ 7,882,411.33 บาท ต้องเสียภาษี394,120.57 บาท นอกจากนี้นางสาว นฤมล ยังทำบันทึกข้อตกลงยินยอมการชำระภาษีอากรตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 100 มีข้อความว่านางสาว นฤมล ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้จัดการของโจทก์ยินยอมชำระภาษีจำนวนดังกล่าวให้จำเลยด้วย จึงฟังได้ว่ายอดรายรับที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาคำนวณภาษีจากโจทก์นั้นถูกต้องแล้ว ทั้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ชอบแล้ว
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานนำรายรับหลังจากวันที่ 10เมษายน 2529 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2529 มาประเมินภาษีจากโจทก์ไม่ได้ เพราะโจทก์จดทะเบียนเลิกห้างในวันที่ 10 เมษายน 2529นั้น นางสาว นงลักษณ์ ศิริพาณิชย์ พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของโจทก์คดีนี้ เบิกความว่าเหตุที่พยานตรวจสอบและประเมินภาษีของโจทก์จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2529 ก็เพราะบริษัทใหม่ที่รับช่วงกิจการของโจทก์ได้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม2529 ประกอบกับหลักฐานที่ทางกรมทรัพยากรธรณีได้บันทึกไว้ปรากฏว่าการเสียค่าภาคหลวงของโจทก์ก็บันทึกเป็นเดือนไม่ได้ระบุเป็นวันจึงต้องตัดบัญชีจนถึงวันสิ้นเดือน ข้ออ้างนี้มีเหตุผลทั้งโจทก์มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวเลย นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 แม้ห้างโจทก์จะเลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share