คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 645/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ว่าคดีฟ้องด้วยวาจาว่า ‘เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2506 เวลากลางวันจำเลยได้ลักลอบนำธนบัตรเข้าไปในเรือนจำและมีไว้ในครอบครอง580 บาท ฯลฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 37,39,45 วรรคสาม และริบของกลางฯลฯ’ โดยไม่ได้แจ้งข้อความต่อศาลว่า ‘เป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับของเรือนจำ’ ด้วยนั้น ก็เป็นฟ้องที่ครบบริบูรณ์แล้ว เพราะกิริยา’ลักลอบ’ หมายถึงการนำธนบัตรเข้าไปในเรือนจำเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับของเรือนจำอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดได้ทั้ง 2 กรณี (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 29/2507)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องด้วยวาจา ศาลแขวงพระนครเหนือบันทึกคำฟ้องไว้ว่า”เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2506 เวลากลางวัน จำเลยได้ลักลอบนำธนบัตรเข้าไปในเรือนจำ และมีไว้ในความครอบครอง 580 บาท ฯลฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มาตรา 37, 39, 45 วรรค 3 ริบเงินของกลาง”

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลแขวงพระนครเหนือลงโทษจำคุก 2 เดือน ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องคืนของกลาง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มาตรา 45 คดีมีปัญหาว่าคำฟ้องด้วยวาจาของโจทก์มีเพียงเท่าที่ศาลบันทึกใจความไว้โดยโจทก์ไม่ได้แจ้งข้อความต่อศาลว่า “เป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับของเรือนจำ” ด้วย ดังนี้ จะเป็นฟ้องที่สมบูรณ์หรือไม่ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า คำฟ้องด้วยวาจาที่แจ้งต่อศาลศาลบันทึกใจความว่า “จำเลยได้ลักลอบนำธนบัตรเข้าไปในเรือนจำและมีไว้ในความครอบครอง 580 บาท” นั้น กิริยา ” “ลักลอบ” หมายความถึงการนำธนบัตรเข้าไปในเรือนจำเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ หรือข้อบังคับของเรือนจำอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดได้ทั้งสองกรณี คำฟ้องด้วยวาจาของโจทก์จึงครบบริบูรณ์ที่จะลงโทษจำเลยได้แล้วพิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share