คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ตายไม่มีบุตรและภริยา บิดามารดาของผู้ตายก็ถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งรวมถึง ล. ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) เมื่อ ล. ถึงแก่กรรมโดยยังมิได้รับส่วนแบ่งมรดก ทรัพย์มรดกส่วนที่ ล. จะได้รับจึงตกแก่ ป. ผู้สืบสันดาน แต่ ป. ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว ทรัพย์มรดกส่วนที่ ป. จะได้รับจึงตกแก่ผู้ร้องและ ฉ. ผู้สืบสันดานซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ป. ตามมาตรา 1639 ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในกองมรดกมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 (2) เมื่อผู้ร้องและ ฉ. มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเช่นเดียวกับพี่ของ ป. แต่ไม่ได้ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายหรือยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี ทั้งๆ ที่ผู้ตายถึงแก่กรรมไปก่อนยื่นคำร้องถึง 15 ปี ประกอบกับ ฉ. ก็มิได้ยื่นคำคัดค้านผู้ร้องจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกและศาลมีอำนาจแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามมาตรา 1711

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า นายชื่น จงอ้อมกลาง ผู้ตาย เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางหลง เทียบกลาง ซึ่งเป็นมารดาของนายประกอบ เทียบกลาง บิดาผู้ร้อง ผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2530 ก่อนถึงแก่กรรมมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 20 หมู่ที่ 13 ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 3 งาน 4 ตารางวา เมื่อผู้ตายถึงแก่กรรมก่อนนางหลง ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่นางหลงและเมื่อนายประกอบบิดาผู้ร้องถึงแก่กรรมก่อนนางหลงผู้ร้องจึงเป็นผู้รับมรดกแทนที่นายประกอบ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก และไม่ได้เป็นบุคคลผู้ต้องห้ามตามกฎหมาย การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติฟังได้ว่า ผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางหลง เทียบกลาง ซึ่งเป็นมารดาของนายประกอบ เทียบกลาง บิดาของผู้ร้อง ผู้ตายไม่มีบุตรและภริยาได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2530 ส่วนนางหลงถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2534 และนายประกอบถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2507 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่าสมควรแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า ผู้ตายไม่มีบุตรและภริยา บิดามารดาของผู้ตายก็ถึงแก่กรรมไปหมดแล้วทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งรวมถึงนางหลงด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3) เมื่อนางหลงถึงแก่กรรมโดยยังมิได้รับส่วนแบ่งมรดก ดังนั้น ทรัพย์มรดกส่วนที่นางหลงจะได้รับก็ตกแก่นายประกอบผู้สืบสันดาน แต่ปรากฏว่านายประกอบถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วทรัพย์มรดกส่วนที่นายประกอบจะได้รับก็ตกแก่ผู้ร้องและนายฉอ้อนผู้สืบสันดานซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่นายประกอบตามมาตรา 1639 ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในกองมรดกและเมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 (2) ผู้ร้องและนายฉอ้อนมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เช่นเดียวกับนายเพ็ชร และนางปีพี่ของนายประกอบ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าบุคคลทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายหรือยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ ทั้งๆ ที่ผู้ตายถึงแก่กรรมไปก่อนยื่นคำร้องขอถึง 15 ปี ประกอบกับนายฉอ้อนผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นน้องของผู้ร้องก็มิได้ยื่นคำคัดค้าน ผู้ร้องจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้และศาลมีอำนาจแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 มีคำสั่งยกคำร้องขอ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้แต่งตั้งนายแดง เทียบกลาง ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายชื่น จงอ้อมกลาง ผู้วายชนม์ ให้ผู้ร้องมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share