คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมรณะในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 และ 43 การที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำขอของโจทก์จึงถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นทำแทนศาลฎีกาเท่านั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจคำสั่งของศาลชั้นต้น ก็หามีสิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านเลื่อนการไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้รวลรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นว่านี้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ผู้คัดค้านฎีกาต่อมาก็ต้องถือว่าฎีกาของผู้คัดค้านเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. มาตรา 42 วรรคสอง มิใช่เป็นบทบังคับศาลให้ต้องจำหน่ายคดีเสมอไป และตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิขอให้เรียกบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่คู่ความมรณะได้แม้จะพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีแล้วก็ตาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากอาคารเลขที่ 34 ตรอกอิศรานุภาพ แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร พร้อมส่งมอบอาคารให้แก่โจทก์ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย จำนวน 227,500 บาท และค่าเสียหายต่อไปเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 18 ตุลาคม 2539) จนกว่าจะขนย้ายเสร็จกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาได้ทำคำพิพากษาศาลฎีกาเสร็จแล้ว และส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านให้แก่คู่ความฟัง ครั้นถึงวันนัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ทนายจำเลยยื่นคำร้องว่าทนายจำเลยเพิ่งได้รับแจ้งจากทายาทของจำเลยว่าจำเลยถึงแก่ความตายแล้ว ขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาเพื่อรอทายาทของจำเลยหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกหรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกจะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีไปก่อนเพื่อให้โจทก์สืบหาทายาทหรือบุคคลที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะ
โจทก์ยื่นคำขอว่า นายดุษฎี เจริญจิตกร ผู้คัดค้านเป็นบุตรจำเลยและอาศัยอยู่ในอาคารพิพาท ขอให้เรียกผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยเพื่อดำเนินคดีต่อไป
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จึงมิใช่เป็นทายาทและมิได้เป็นผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของจำเลย โจทก์ยื่นคำขอให้เรียกทายาทของจำเลยเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่เกินกว่า 1 ปี นับแต่จำเลยมรณะขอให้ยกคำขอ
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายในวันเดียวกันและกำชับให้ทุกฝ่ายเตรียมพยานมาสืบในวันนัดทั้งหมด หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีพยานมาศาลเท่าใด ให้ถือว่าติดใจสืบพยานเพียงนั้น หากไม่มาศาลถือว่าไม่ติดใจสืบ ครั้นถึงวันนัด ทนายผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้คัดค้านและโจทก์แล้วเห็นว่า กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลื่อนคดี ให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดี ค่าคำร้องเป็นพับ แล้วให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เมื่อปรากฏว่า จำเลยได้มรณะในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอของโจทก์ที่ขอให้เรียกทายาทของคู่ความผู้มรณะหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะหรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้ เข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 และ 43 การที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำขอของโจทก์จึงถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นทำแทนศาลฎีกาเท่านั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจคำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ทำแทนศาลฎีกาเช่นนี้ ก็หามีสิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านเลื่อนการไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นว่านี้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ผู้คัดค้านฎีกาต่อมาก็ต้องถือว่าฎีกาของผู้คัดค้านเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาในชั้นนี้แล้ว ศาลฎีกาชอบที่จะสั่งคำขอของโจทก์ที่ขอให้เรียกผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะไปเสียทีเดียว เห็นว่า เมื่อปรากฏตามคำเบิกความของผู้คัดค้านที่เบิกความในชั้นพิจารณายอมรับว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของจำเลยผู้มรณะและพักอาศัยอยู่ในอาคารพิพาทกับจำเลยตลอดมาตั้งแต่ปู่ของผู้คัดค้านทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทไว้กับกรมศาสนา ทั้งผู้คัดค้านยังมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านร่วมกับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าบ้านและผู้คัดค้านอยู่ในฐานะผู้อาศัยโดยระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรจำเลยปรากฏรายละเอียดตามสำเนาทะเบียนบ้านตามเอกสารหมาย จ.14 ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันเพียงพอที่รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรจำเลยและเป็นผู้ปกครองทรัพย์มรดกของจำเลย ชอบที่โจทก์จะขอให้เรียกผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะได้ตามคำขอ ที่ผู้คัดค้านอ้างว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้หมายเรียกผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยมรณะแล้ว เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้คำขอเรียกบุคคลใดให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่คู่ความผู้มรณะนั้น คำขอเช่นว่านี้จะต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะมิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นเสียจากสารบบความตามมาตรา 42 วรรคสอง ก็ตาม แต่บทบัญญัติเช่นว่านั้นมิใช่เป็นบทบังคับศาลให้ต้องจำหน่ายคดีเสมอไป และตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิขอให้เรียกบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่คู่ความมรณะได้แม้จะพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีแล้วก็ตาม และกรณีนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะ”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และยกฎีกาของผู้คัดค้าน และให้ผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share