คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5433/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อหุ้นจากโจทก์เป็นเงิน 20,000,000 บาท โจทก์โอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าหุ้นแก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 12,500,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 7,500,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เป็นสัญญากู้ยืมเงิน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินเพราะเหตุหนี้กู้ยืมเงินอันเกิดจากการแปลงหนี้ใหม่ไม่ได้เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ อันเป็นการบรรยายนิติสัมพันธ์ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นลำดับขั้นตอนว่ามีความเป็นมาอย่างไร และสอดคล้องกับที่ ป.พ.พ. มาตรา 351 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดขึ้นก็ดี ได้ยกเลิกเสียเพราะมูลแห่งหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิรู้ถึงคู่กรณีก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังหาระงับสิ้นไปไม่” ส่วนการขายหุ้นและการโอนหุ้นจะกระทำเมื่อใด เป็นหุ้นเลขที่เท่าใด และหลักฐานการโอนหุ้นเป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ประกอบกับตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงซื้อขายหุ้น ไม่เคยชำระเงินค่าหุ้นและไม่ได้รับโอนหุ้นจากโจทก์ตามฟ้อง การลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินเกิดจากกลฉ้อฉลหลอกลวงอันแสดงว่า จำเลยที่ 1 เข้าใจคำฟ้องของโจทก์และมิได้หลงต่อสู้ คำฟ้องโจทก์จึงมิได้ขัดแย้งกันเองและชัดแจ้ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินที่กู้ยืม 7,593,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,500,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรือให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 7,593,750 บาท เป็นค่าซื้อขายหุ้นที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อหุ้นจากโจทก์เป็นเงิน 20,000,000 บาท โจทก์โอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ชำระค่าหุ้นแก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 12,500,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 7,500,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เป็นสัญญากู้ยืมเงิน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินเพราะเหตุหนี้กู้ยืมเงินอันเกิดจากการแปลงหนี้ใหม่ไม่ได้เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ อันเป็นการบรรยายนิติสัมพันธ์ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นลำดับขั้นตอนว่ามีความเป็นมาอย่างไร และสอดคล้องกับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 351 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดขึ้นก็ดี ได้ยกเลิกเสียเพราะมูลแห่งหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันมิรู้ถึงคู่กรณีก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังหาระงับสิ้นไปไม่” ส่วนการขายหุ้นและการโอนหุ้นจะกระทำเมื่อใด เป็นหุ้นเลขที่เท่าใด และหลักฐานการโอนหุ้นเป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ประกอบกับตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ก็ปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงซื้อขายหุ้น ไม่เคยชำระเงินค่าหุ้นและไม่ได้รับโอนหุ้นจากโจทก์ตามฟ้อง การลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินเกิดจากกลฉ้อฉลหลอกลวงอันแสดงว่า จำเลยที่ 1 เข้าใจคำฟ้องของโจทก์และมิได้หลงต่อสู้ คำฟ้องโจทก์จึงมิได้ขัดแย้งกันเองและชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
และเมื่อคดีมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 จนเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อมิให้เป็นการล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันฟังยุติว่า บริษัทเซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ มีบริษัทสยามโฮลดิ้ง กรุ๊ป เป็นผู้ร่วมลงทุน บริษัทเซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) ได้จดทะเบียนลดทุนโดยการลดมูลค่าหุ้นจากหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 28 สตางค์ โดยโจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทเซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) จากโจทก์จำนวน 5,000,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 4 บาท เป็นเงิน 20,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ชำระค่าหุ้นบางส่วน 12,500,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 7,500,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระเมื่อนำหุ้นของบริษัทเซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) เข้าไปขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยมีกำหนดเวลานำหุ้นของบริษัทเซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) เข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 1 ปี โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้ ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยซื้อขายหุ้นกับโจทก์และสัญญากู้เงิน เกิดจากการฉ้อฉล เห็นว่า ถึงแม้ว่าโจทก์จะเบิกความยืนยันว่า โจทก์ขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทเซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) ให้จำเลยที่ 1 แต่ตามสัญญารับโอนสิทธิในการเพิ่มทุนของบริษัทสยามโฮลดิ้งกรุ๊ป จำกัด ระบุว่า โจทก์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทเซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 5,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 2 บาท กับนายเมฆิณ นอกจากนี้แคชเชียร์เช็คที่ใช้ชำระค่าหุ้นบางส่วนจำนวน 12,500,000 บาท แก่โจทก์ก็เป็นเงินที่ถอนมาจากบัญชีเงินฝากของนายเมฆิณ ซึ่งสอดคล้องกับที่นางสาวปิยวดี พนักงานธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 นายเมฆิณได้ถอนเงินจำนวน 12,500,000 บาท จากบัญชีเงินฝากเพื่อนำไปซื้อแคชเชียร์เช็ค ประกอบกับปัจจุบันหุ้นดังกล่าวมีชื่อนายเมฆิณเป็นผู้รับโอนมาจากโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า โจทก์ตกลงขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทเซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) ให้นายเมฆิณจำนวน 5,000,000 หุ้น เป็นเงิน 20,000,000 บาท โดยนายเมฆิณชำระค่าหุ้นบางส่วน 12,500,000 บาท แก่โจทก์และยังค้างชำระส่วนที่เหลืออีกจำนวน 7,500,000 บาท แต่เมื่อต่อมาโจทก์และนายเมฆิณมิได้มีการชำระหนี้ต่อกันแล้วโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้จำนวน 7,500,000 บาท เมื่อได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนของบริษัทสยามโฮลดิ้งกรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนในบริษัทเซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) และได้โอนสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้แก่นายเมฆิณเพื่อนำไปบอกขายให้แก่นักลงทุนรายอื่น ซึ่งโจทก์ได้จองซื้อหุ้นจากนายเมฆิณจำนวน 5,000,000 หุ้น ต่อมาได้มีการขายคืนให้แก่นายเมฆิณเป็นเงิน 20,000,000 บาท โดยนายเมฆิณยังค้างชำระค่าหุ้นส่วนที่เหลืออีกจำนวน 7,500,000 บาท แก่โจทก์ คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทราบดีว่า โจทก์และนายเมฆิณมีการตกลงซื้อขายหุ้นต่อกันจริงและมีหนี้ค้างชำระต่อกันเป็นจำนวนเท่าไร เมื่อนายเมฆิณซึ่งรับโอนสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนมาจากบริษัทสยามโฮลดิ้งกรุ๊ป จำกัด และค้างชำระค่าซื้อหุ้นคืนต่อโจทก์จึงมีความเป็นไปได้ที่จำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทสยามโฮลดิ้งกรุ๊ป จำกัด จะทำสัญญากู้เงินกับโจทก์ เพื่อรับผิดใช้หนี้ดังกล่าวแทนนายเมฆิณ ประกอบกับจำเลยที่ 1 เองก็เบิกความยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินจริง เพียงแต่อ้างว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเพราะถูกกลฉ้อฉลเท่านั้น แต่เมื่อสัญญากู้เงินดังกล่าว จัดทำโดยนายนิทัศน์ ทนายความของจำเลยที่ 1 เอง โดยโจทก์มีนายนิทัศน์มาเบิกความเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว กรณีจึงไม่น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 จะลงลายมือชื่อเพราะถูกกลฉ้อฉลตามที่อ้าง เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 นำมูลหนี้ค่าหุ้นค้างชำระที่นายเมฆิณมีต่อโจทก์มาเปลี่ยนเป็นมูลหนี้กู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถือว่าคู่กรณีได้ตกลงทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ โดยการเปลี่ยนมูลหนี้จากหนี้ค่าหุ้นเป็นหนี้กู้ยืมและเปลี่ยนตัวลูกหนี้เป็นจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 และ 350 สิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ค่าหุ้นเดิมย่อมระงับสิ้นไปแล้วมาผูกพันกันตามสัญญากู้เงินตามฟ้อง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินต่อโจทก์เป็นเงิน 7,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2559 อันเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยจะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้เงินเพื่อปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 7,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 สิงหาคม 2559) ต้องไม่เกิน 93,750 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท

Share