แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 รวมกับความผิดฐานอื่น ๆ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มี พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ประกาศใช้บังคับให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป โดยมาตรา 3 กำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 นำข้อหาความผิดเดิมตามมาตรา 27, 54 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานมาบัญญัติเป็นความผิดไว้ซึ่งตรงกับมาตรา 9, 102 ของพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว แต่ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป และข้อ 6 ให้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับวันที่ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ ความผิดฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป จำเลยที่ 1 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 282, 283, 310 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 52 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 9, 11, 12 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 4, 26, 78 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3, 26 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 63, 64 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 5, 27, 54
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.4 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอแก้ไขคำให้การเป็นขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง และวรรคสาม, 310 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2), 52 วรรคสอง และวรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง และวรรคสาม, 11 วรรคสอง และวรรคสาม, 12 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (1), 78 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3, 26 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาหรือพาไปเพื่อการอนาจาร ซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีและบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น ฐานเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีและบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณีซึ่งบุคคลกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีและบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ฐานเป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณีและมีบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีและบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเพื่อข่มขืนใจให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี และฐานกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจเด็กเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม, 11 วรรคสาม, 12 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดนั้นมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเพื่อข่มขืนใจให้ผู้อื่นนั้นกระทำการค้าประเวณี ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง จำคุก 14 ปี ฐานนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการอุปการะ ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร จำคุก 2 ปี ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 4 เดือน ฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นการจับกุมจำคุก 1 ปี และฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน ปรับ 10,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน รวม 10 คน รวมปรับ 100,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเพื่อข่มขืนให้ผู้อื่นนั้นกระทำการค้าประเวณี คงจำคุก 7 ปี ฐานนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการอุปการะช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร คงจำคุก 1 ปี ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุก 2 เดือน ฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นการจับกุม คงจำคุก 6 เดือน และฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน คงปรับ 50,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี 8 เดือน และปรับ 50,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยกและยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 1 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น และความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม 310 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2), 52 วรรคสอง และวรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่, 11 วรรคสอง และวรรคสาม, 12 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2526 มาตรา 26 (1), 78 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3, 26 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 ฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหาหรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีและบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ฐานเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีและบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อให้บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีและเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีค้าประเวณีโดยขู่เข็ญใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ฐานเป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณีและมีบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินแปดปีและบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเพื่อข่มขืนใจให้ค้าประเวณีและฐานกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องโจทก์ด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมเข้าตรวจค้นและจับกุมบุคคลในร้านแซดวันคาราโอเกะและนวดแผนโบราณในวันเกิดเหตุนั้น พบจำเลยที่ 2 อยู่ในร้านที่เกิดเหตุด้วย และจำเลยที่ 2 เป็นผู้โทรศัพท์ติดต่อเรียกให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของร้านให้มาที่ร้านเกิดเหตุ และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจพบเด็กหญิงชาวลาวคือผู้เสียหายทั้งสี่และบุคคลอื่น ๆ ด้วย ที่ลักลอบเข้ามาและอยู่ รวมทั้งทำงานในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้จับกุมกลุ่มบุคคลทั้งหมด รวมทั้งจำเลยที่ 2 ด้วยมาดำเนินคดีโดยจำเลยที่ 2 ถูกตั้งข้อหาว่า ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดข้อหาค้ามนุษย์ และเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่ อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้ที่พักพิงคนต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย แต่จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ต่อมาในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ยังคงให้การปฏิเสธโดยให้การว่า ตนเป็นเพียงพนักงานคนหนึ่งของร้าน ทำหน้าที่ตรวจเช็คอาหารและเครื่องดื่มที่บริเวณบาร์น้ำของร้าน ไม่ได้เป็นผู้จัดการที่มีอำนาจสั่งการใด ๆ ภายในร้าน ไม่ทราบความเป็นมาเกี่ยวกับผู้ต้องหาทั้งสี่ ซึ่งเป็นเด็กสัญชาติลาว ทั้งนี้ ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ก็ให้การตรงกับจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงพนักงานคนหนึ่ง ทำหน้าที่อยู่บริเวณบาร์น้ำและจำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้จัดการร้าน จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการร้านแต่อย่างใด และต่อมาเมื่อพนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น คำฟ้องระบุว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ในฟ้องข้อ 1.3, 1.4 และ 1.5 คือ ข้อหาให้ที่พักอาศัยแก่คนต่างด้าวและรับเข้าทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ร้านเกิดเหตุโดยไม่มีใบอนุญาต และดำเนินกิจการค้าประเวณี โดยเป็นธุระ จัดหา และชักพาผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งเป็นเด็กให้ค้าประเวณี เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบและเพื่อการอนาจารและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสี่ไว้ในบริเวณร้าน เพื่อข่มขืนใจให้ค้าประเวณีโดยรับเงินส่วนแบ่ง อันเป็นความผิดข้อหาค้ามนุษย์ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 ยังคงปฏิเสธในชั้นพิจารณา
ปัญหาที่ต้องพิจารณาในข้อหาสาระสำคัญ คือว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามข้อหาในฟ้องข้อ 1.3, 1.4, และ 1.5 ดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ เมื่อพิเคราะห์ดูจากพยานโจทก์ในสำนวนแล้ว เห็นว่า ในชั้นพิจารณาโจทก์คงนำผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 มาเบิกความ ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนนั้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างแถลงรับข้อเท็จจริงกันตามรายงานพิจารณา ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2558 โจทก์จึงส่งเอกสารโดยมิได้นำพยานในส่วนนี้เข้าสืบ ซึ่งแม้ตามบันทึกการจับกุมจะมีระบุว่า ขณะเข้าตรวจค้น เจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยที่ 2 แสดงตัวเป็นผู้จัดการดูแลร้าน แต่ในชั้นที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 มาเบิกความในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นั้น ผู้เสียหายที่ 1 คงเบิกความเพียงว่า จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เชียร์แขก แต่ก็ไม่เคยเชียร์แขกให้พยานในระหว่างทำงานที่ร้าน ส่วนผู้เสียหายที่ 4 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 เป็นญาติกับจำเลยที่ 1 แต่พยานไม่ทราบว่า ทำหน้าที่อะไรในร้าน และก่อนหน้านั้นพยานก็ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 ด้วย ครั้นเมื่อตรวจดูจากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ตามที่พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำบุคคลในร้านไว้ประกอบคดีปรากฏว่า พยานปากนางสาว ส. แม่บ้าน นางสาว พ. นางสาว ก. นางสาว อ. และนางสาว จ. พนักงานร้าน ต่างให้ปากคำตรงกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงพนักงานคนหนึ่งของร้านเช่นเดียวกับพยาน ไม่ใช่ผู้จัดการร้านที่มีอำนาจสั่งการหรือดูแลร้าน ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ตัวจำเลยที่ 2 ให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามที่ปฏิเสธข้อกล่าวหา และตามที่เบิกความต่อสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เบิกความสนับสนุนด้วย แม้ในชั้นที่ผู้เสียหายทั้งสี่ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนจะให้การในลักษณะเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร้านและจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการร้าน แต่ก็เป็นการให้ปากคำว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการร้านเพียงลอย ๆ ไม่มีบริบทใดเป็นข้อเท็จจริงในรายละเอียดเลยว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำการใดอันเข้าลักษณะเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการให้ที่พักอาศัย ช่วยซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือคนต่างด้าวทั้งสิบที่เข้ามาในราชอาณาจักร และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีใบอนุญาตทำงานให้ได้ทำงานในร้านที่เกิดเหตุ เพื่อให้พ้นการจับกุม ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปเพื่อการอนาจาร เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และเพื่อให้มีการค้าประเวณีซึ่งผู้เสียหายทั้งสี่ร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างไร หรือมีส่วนร่วมกระทำการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสี่เพี่อบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายทั้งสี่กระทำการค้าประเวณีอย่างไร หรือแม้กระทั่งชื่อและชื่อสกุลของจำเลยที่ 2 ผู้เสียหายทั้งสี่ก็ยังไม่ทราบ นอกจากนี้ ในชั้นสืบพยานก่อนฟ้องนั้น คนต่างด้าวซึ่งเป็นชาวกัมพูชา และมาทำงานอยู่ที่ร้านก่อนผู้เสียหายทั้งสี่ได้แก่พยานปากนาง ศ. นาย น. และนางสาว ด. ก็เบิกความในชั้นพิจารณาและให้การในชั้นสอบสวนเช่นเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงพนักงานคนหนึ่งในร้านมีหน้าที่คุมบาร์น้ำ โดยยังมีบันทึกคำให้การของนาง น. และนางสาว บ. กับนางสาว ล. ให้ปากคำไว้เช่นเดียวกัน ซึ่งพยานเหล่านี้ต่างทำงานอยู่ที่ร้านเกิดเหตุมาระยะหนึ่งแล้ว ย่อมทราบความเป็นไปภายในร้านได้ดีกว่าผู้เสียหายทั้งสี่ที่เพิ่งมาทำงานก่อนเกิดเหตุถูกจับกุมไม่กี่วัน ประกอบกับตามที่พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำลูกค้าประจำร้าน คือนาย ม. และนาย อ. ต่างก็ให้ปากคำตรงกันว่า ขณะใช้บริการประตูไม่ได้ล็อกมีแต่ม่านมู่ลี่ขึ้นลงบังตาเท่านั้น ภายในห้องไม่มีอ่างอาบน้ำ ไม่มีการค้าประเวณี และแม้กระทั่งเจ้าพนักงานผู้จับกุมที่ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนว่า ขณะเข้าจับกุมจำเลยที่ 2 แสดงตัวเป็นผู้จัดการร้าน ก็เป็นข้อเท็จจริงลอย ๆ ไม่มีรายละเอียดว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างไร ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อฝ่ายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารในสำนวนการสอบสวนแล้ว ข้อเท็จจริงในส่วนของผู้จับกุม และพนักงานสอบสวนย่อมเป็นที่ยุตินั้น ข้อนี้ เห็นว่า แม้จะมีการแถลงรับข้อเท็จจริงตามนั้นก็คงเป็นเพียงการรับรองขั้นตอนการจับกุมและสอบสวนว่า เป็นไปตามเอกสารที่เจ้าพนักงานจัดทำขึ้นตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น แต่หาใช่เป็นการแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามฟ้องจริงไม่ คงต้องเป็นดุลพินิจของศาลที่จะนำข้อเท็จจริงตามที่บันทึกไว้ในเอกสารมาพิจารณาชั่งน้ำหนักว่า มีเหตุอันควรรับฟังเป็นหลักฐานว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน ดังนี้ศาลฎีกาจึงเห็นว่า เมื่อได้พิจารณาชั่งน้ำหนักจากพยานโจทก์ทั้งปวงที่นำสืบในคดีส่วนของจำเลยที่ 2 แล้วยังไม่มีน้ำหนักแน่นเพียงพอที่จะให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดในข้อ 1.3, 1.4 และ 1.5 ตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ประกาศใช้บังคับให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป โดยมาตรา 3 กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และตามพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 นำข้อหาความผิดเดิมตามมาตรา 27, 54 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานมาบัญญัติเป็นความผิดไว้ซึ่งตรงกับมาตรา 9, 102 ของพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว แต่ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป และข้อ 6 ให้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับวันที่พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ ความผิดฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป จำเลยที่ 1 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1