คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5593/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเอาที่ดินของจำเลยมาแลกเปลี่ยนกับที่ดินมือเปล่าซึ่งเป็นที่สวนของโจทก์ทั้งสอง โดยให้โจทก์ทั้งสองได้คนละครึ่ง โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้โจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การว่า ไม่ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกับโจทก์ทั้งสอง จำเลยตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกับน้องสาวของจำเลยแต่ต่อมาได้ยกเลิกสัญญากันและน้องสาวได้นำที่ดินแปลงที่จะแลกเปลี่ยนไปออกเป็นโฉนดของน้องสาวเองแล้ว โจทก์ที่ 1 เข้าอยู่อาศัยโดยได้รับอนุญาตจากจำเลย ตามคำฟ้องมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยสละสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ได้แย่งการครอบครองเกิน 1 ปี ดังนั้น คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยสละสิทธิครอบครองแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 แย่งการครอบครองจากจำเลยเพราะจำเลยไม่ฟ้องเอาคืนภายใน 1 ปี ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยเมื่อเดือนมีนาคม 2533 จำเลยทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกับโจทก์ทั้งสองโดยจำเลยตกลงแลกเปลี่ยนรับเอาที่ดินมือเปล่าซึ่งเป็นที่สวนเนื้อที่ 2 ไร่เศษ ส่วนโจทก์ทั้งสองได้ที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 5461 (ที่ถูก 4501) ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 10 ตารางวา โดยให้โจทก์ทั้งสองคนละครึ่งเท่ากัน โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ประมาณเดือนกันยายน 2539 โจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และจดทะเบียนโอนแบ่งแยกที่ดินแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชย์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 5461 (ที่ถูก 4501) ตำบลสังเม็ก (ปัจจุบันตำบลเวียงเหนือ) อำเภกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากสูญหายหรือถูกทำลาย ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขากันทรลักษ์ออกใบแทนให้โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายแต่เพียงฝ่ายเดียว ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าวและแบ่งแยกให้โจทก์ทั้งสองภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกับโจทก์ตามฟ้อง เมื่อปี 2533 จำเลยเคยตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก. เลขที่ 5461 (ที่ถูก 4501) ตำบลสังเม็ก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ของจำเลยกับน้องสาวแต่ไม่ได้ส่งมอบเปลี่ยนแปลงการครอบครองระหว่างกัน ต่อมาปี 2534 จำเลยกับน้องสาวได้ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว และน้องสาวผู้มีชื่อได้นำที่ดินที่จะแลกเปลี่ยนไปออกโฉนดเป็นชื่อน้องสาวผู้มีชื่อแล้ว โจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4501 ตำบลสังเม็ก (เวียงเหนือ) อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ หนึ่งในสองส่วน คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,600 บาท คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ส่วนที่ชำระเกินให้แก่จำเลย
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ที่พิพาทมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกันตามเอกสารหมาย จ.1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ที่ 1 ว่าจำเลยต้องโอนสิทธิครอบครองที่ดินตามเอกสาร จ.2 ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวนเนื้อที่กึ่งหนึ่งตามสัญญาแลกเปลี่ยนเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า พยานโจทก์ที่ 1 ทุกปากล้วนเบิกความว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองปลูกสร้างบ้านและทำประโยชน์ในที่พิพาทตั้งแต่ก่อนตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 และได้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยไม่เคยโต้แย้งหรือบอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ออกไปจากที่พิพาท โจทก์ที่ 1 ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367, 1375 ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (2) นั้น คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกับโจทก์ทั้งสองโดยจำเลยเอาที่ดินของจำเลยมาแลกเปลี่ยนกับที่ดินมือเปล่าซึ่งเป็นที่สวนของโจทก์ทั้งสอง โดยให้โจทก์ทั้งสองได้คนละครึ่งเท่ากัน โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้โจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การว่า ไม่ได้ตกลงทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกับโจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกับน้องสาวของจำเลยแต่ต่อมาได้ยกเลิกสัญญากันและน้องสาวของจำเลยได้นำที่ดินแปลงที่จะแลกเปลี่ยนไปออกเป็นโฉนดของน้องสาวจำเลยเองแล้ว โจทก์ที่ 1 เข้าอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยเพราะจำเลยสงสารโจทก์ที่ 1 ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยสละสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ได้แย่งการครอบครองจากจำเลยเกิน 1 ปี ดังนั้น คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยสละสิทธิครอบครองและโจทก์ที่ 1 ได้ครอบครองที่พิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของและโจทก์ที่ 1 แย่งการครอบครองจากจำเลยเพราะจำเลยไม่ฟ้องเอาคืนภายใน 1 ปี ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาแต่อย่างใด จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง และไม่ใช่กรณีตามมาตรา 142 (2) ตามที่โจทก์ที่ 1 ฎีกามา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลรวมกันมาจากทุนทรัพย์ 40,000 บาท เมื่อโจทก์ที่ 2 ถอนฟ้องทุนทรัพย์พิพาทของโจทก์ที่ 1 จึงมีเพียง 20,000 บาท ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาจึงมีเพียงชั้นละ 20,000 บาท ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่โจทก์ที่ 1 ชำระเกินมา”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่ชำระเกินแก่โจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share