คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินพิพาทเพื่อไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงถือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายคืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เพื่อนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า เงินที่ได้จากการจำนอง 4,500,000 บาท โจทก์นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคาร ก. จำนวน 3,000,000 บาท ชำระค่าที่ดินที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อจาก พ. โดยมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ในใบคำขอซื้อเช็ค ตรงกับบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 เขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์ มีข้อความว่า “นำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 58 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ที่ลงทุนร่วมกัน” และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจาก พ. และ ด. โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขาย 2,750,000 บาท และชำระด้วยแคชเชียร์เช็คให้แก่ธนาคาร ก. จำนวนเงิน 3,000,000 บาท สนับสนุนให้เห็นว่าการจำนองที่ดินพิพาทนั้นเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเงินไปชำระค่าที่ดินที่ซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองธนาคาร ส. สาขาแหลมฉบัง จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อให้โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์ย่อมทราบดีว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง โจทก์อาจนำหนังสือมอบอำนาจและเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ได้เอง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ยอมรับว่าประสงค์จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดแจ้งว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันโจทก์เสมือนหนึ่งว่าโจทก์เป็นผู้จำนองเอง การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าหนังสือสัญญาขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ เพิกถอนนิติกรรมสัญญาขายที่ดินและสัญญาจำนองดังกล่าว และมีหนังสือไปยังเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเพิกถอนหนังสือสัญญาขายที่ดินและหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 4568 เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนแก่โจทก์โดยปลอดภาระจำนองและการบังคับคดี หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากจำเลยทั้งสองไม่อาจโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 25,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 7,423,767 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,500,000 บาท ถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ 1,060,000 บาท และอัตราเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะโอนที่ดินแก่โจทก์โดยปลอดภาระจำนองและการบังคับคดี และให้จำเลยที่ 2 ถอนการบังคับคดีที่ดินดังกล่าว ณ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 4568 เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนแก่โจทก์โดยปลอดภาระจำนองและการบังคับคดี หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากจำเลยทั้งสองไม่อาจโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหาย 25,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 มีนาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์เดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะโอนที่ดินคืนโจทก์โดยปลอดภาระจำนองและการบังคับคดี ให้จำเลยที่ 2 ถอนการบังคับคดีจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า หากที่ดินไม่อาจกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้ดังเดิม ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกคำขอที่บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ คำขอค่าขาดประโยชน์และคำขอที่บังคับให้จำเลยที่ 2 ถอนการบังคับคดีในหมายเลขแดงที่ ย.222/2554 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 4568 เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านทรงไทย 5 หลัง มีชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสังเวียน ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 โจทก์ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินดังกล่าวพร้อมบ้านตึกแถวชั้นเดียวเลขที่ 9/9 แก่จำเลยที่ 1 ราคา 1,200,000 บาท และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมบ้านตึกแถวชั้นเดียวเลขที่ 9/9 ดังกล่าวเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 จำนวนเงิน 4,500,000 บาท วันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกว่า จำเลยที่ 1 ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ และนำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดินหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ลงทุนร่วมกัน กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายที่ดินคืนแก่โจทก์โดยมีลายมือชื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ในบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดิน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 จำเลยที่ 1 ออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาแหลมฉบัง ไม่ลงวันที่ จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกว่าได้ออกเช็คดังกล่าวให้โจทก์นำไปชำระหนี้แก่ผู้รับจำนอง จำเลยที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับจำนองที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 หากไม่ชำระให้บังคับจำนองยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด วันที่ 25 มกราคม 2556 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์ดังกล่าว โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินตามเช็ค ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ที่ดินพิพาทอยู่ระหว่างการขายทอดตลาด ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาด ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6289/2560 ท้ายคำแถลงของโจทก์ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงเจตนาลวงตกเป็นโมฆะไม่ผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีผลผูกพันโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินพิพาทเพื่อไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงถือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายคืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เพื่อนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า เงินที่ได้จากการจำนอง 4,500,000 บาท โจทก์นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สั่งจ่ายธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 3,000,000 บาท ชำระค่าที่ดินที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อจากนายพรนพ โดยมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ในใบคำขอซื้อเช็ค ตรงกับบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 เขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 มีข้อความว่า “นำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดินจำนวน 58 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ลงทุนร่วมกัน และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจากนายพรนพและนายดนย์ปภพ โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขาย 2,750,000 บาท และชำระด้วยแคชเชียร์เช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 3,000,000 บาท สนับสนุนให้เห็นว่าการจำนองที่ดินพิพาทนั้นเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเงินไปชำระค่าที่ดินหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองกับออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาแหลมฉบัง จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อให้โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์ย่อมทราบดีว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง โจทก์อาจนำหนังสือมอบอำนาจและเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ได้เอง ทั้งตามคำฟ้องโจทก์ก็ยอมรับว่าประสงค์จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดแจ้งว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันโจทก์เสมือนหนึ่งว่าโจทก์เป็นผู้จำนองเอง การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองโดยสุจริตหรือไม่ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยให้ยกคำขอของโจทก์ส่วนนี้และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share