คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1181/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มีผู้ส่งสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยาน โดยสายการบินของบริษัท อ. จำเลยร่วมกับพวกเพทุบายนำสินค้านั้นเข้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าของบริษัท อ. ในเขตศุลกากรโดยไม่ชอบ และกำลังจะนำสินค้านั้นออกจากคลังสินค้าเพื่อไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง อันเป็นการพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล แต่เจ้าพนักงานศุลกากรตรวจพบเสียก่อน ดังนี้ จำเลยจึงมี ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 9 มาตรา 6 และฉบับที่ 11 มาตรา 3 แต่ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ด้วยเพราะจำเลยไม่ได้รับเอาสินค้านั้นไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นของที่นำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มีผู้ลักลอบนำสินค้าต่าง ๆ 11 หีบห่อ รวมราคา1,412,229.42 บาท ซึ่งจะต้องเสียภาษีอากรเป็นเงิน 560,830.13 บาทอันเป็นของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษีอากร และยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ฯ โดยสายการบินแอร์อินเดีย ทั้งนี้ โดยหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรศุลกากร และโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีอากรของรัฐตามวัน เวลาที่มีผู้ลักลอบดังกล่าว จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันจัดทำและยื่นรายงานเรือเข้าบัญชีสินค้าและลงสมุดบันทึกรายงานเรือเข้าว่า เครื่องบินเที่ยวดังกล่าวไม่มีสินค้าเข้ามา ไม่มีสินค้าถ่ายลำ และไม่มีสินค้าตรวจปล่อยที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ ฯ อันเป็นเอกสารหลักฐานแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร โดยเจตนาที่จะหลอกลวงให้เจ้าพนักงานศุลกากรหลงเชื่อข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อปกปิดการกระทำที่กล่าวข้างต้น และชักพาให้เจ้าพนักงานศุลกากรหลงผิดในรายการเหล่านั้น และเมื่อเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้ ยังได้เอกสารหลักฐานสำแดงเท็จรายการสินค้า 11 หีบห่อนั้นอีก 2 ฉบับ ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำขึ้นและยื่นต่อเจ้าพนักงานศุลกากรผู้ตรวจยึดสินค้าและจับจำเลยโดยเจตนาที่จะหลอกลวงเจ้าพนักงานให้หลงเชื่อข้อความอันเป็นเท็จนั้น ทั้งนี้ ก็โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันลักลอบนำสินค้า 11 หีบห่ออันเป็นของที่ยังไม่ได้เสียภาษีอากรศุลกากรและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงและเจตนาจะฉ้อค่าภาษีอากรของรัฐ หรือมิฉะนั้นก็ร่วมกันรับเอาสินค้าดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร และได้ร่วมกันสำแดงหลักฐานเอกสารเท็จต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ, 99 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 มาตรา 16, 17 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11)พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497มาตรา 3, 4 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4ขอให้จ่ายสินบนและรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 3, 4, 5 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ผิดฐานสำแดงหลักฐานเท็จแต่เพียงข้อหาเดียว ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้กระทำความผิดด้วย พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 99 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497มาตรา 4 ปรับสองหมื่นบาท จ่ายค่าสินบนและรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด ฯ ข้อหาในฐานอื่นให้ยกยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ อีกกระทงหนึ่ง สินค้าของกลางต้องริบ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16, 17 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7, 8 ปรับจำเลยที่ 1 สี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เป็นเงิน 7,892,238.20 บาท อีกกระทงหนึ่งด้วย ริบของกลางทั้งหมด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยไม่มีความผิดทั้ง 2 ข้อหา และขอให้คืนสินค้าของกลาง

ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาในข้อหากระทงความผิดฐานสำแดงหลักฐานเท็จตามมาตรา 99 เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงต้องห้าม วินิจฉัยให้ไม่ได้ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ลักลอบนำสินค้าของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยพยายามหลีกเลี่ยงและเจตนาจะฉ้อภาษีศุลกากรของรัฐบาลหรือไม่

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีผู้ส่งสินค้าของกลางรวม 11 หีบห่อเข้ามาในราชอาณาจักร โดยทางเครื่องบินของบริษัทแอร์อินเดีย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2512 เวลา 18.40 นาฬิกา แล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทแอร์อินเดียได้จัดการขนสินค้าของกลางนั้นไปเก็บไว้ในคลังสินค้าของบริษัทแอร์อินเดีย อันอยู่ในเขตศุลกากร คือ เก็บไว้ในห้องเก็บสินค้า 5 หีบห่อ โดยมีผ้าใบคลุมมิดชิด ส่วนอีก 6 หีบห่ออยู่บนรถเข็นหน้าห้องเก็บสินค้าในห้องที่ทำการของบริษัทดังกล่าว ความปรากฏว่าเมื่อเครื่องบินของบริษัทแอร์อินเดียในเที่ยวบินดังกล่าวมาถึงท่าอากาศยานกรุงเทพ ฯ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ควบคุมอากาศยาน ได้ทำรายงานเกี่ยวกับสินค้าที่นำเข้ามาตามเอกสารหมาย จ.3 จ.6 และ จ.8 ยื่นต่อเจ้าพนักงานศุลกากรด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า เครื่องบินเที่ยวนั้นไม่มีสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และไม่มีสินค้าถ่ายลำ เมื่อร้อยตรีโกวิท โชติรส เจ้าพนักงานศุลกากรตรวจพบของกลาง จำเลยที่ 1 ได้นำบัญชีสินค้าของเรือหมาย จ.11/13 มาแสดงว่าเป็นบัญชีแสดงรายการสินค้าสำหรับสินค้าของกลางจำนวน 5 หีบห่อ ซึ่งระบุว่าสินค้านั้นมีกระเป๋าถือ 3 หีบห่อ และรองเท้า 2 หีบห่อ อันเป็นความเท็จ ความจริงสินค้าของกลาง 5 หีบห่อนั้นไม่มีสินค้าประเภทที่จำเลยที่ 1 ระบุไว้เลย พฤติการณ์ดังกล่าวรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับพวกเพทุบายนำสินค้าของกลางเข้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าของบริษัทแอร์อินเดียในเขตศุลกากรโดยไม่ชอบ และกำลังจะนำสินค้าของกลางออกจากคลังสินค้าเพื่อไม่ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง อันเป็นการพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล แต่เจ้าพนักงานศุลกากรตรวจพบเสียก่อน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 6 และ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 และสินค้าของกลางจะต้องถูกริบตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 17 พยานจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 มาด้วยนั้น ยังไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเอาสินค้าของกลางไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นของที่นำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะการปรับบทมาตราลงโทษว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ด้วย

Share