แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ ซึ่งมาตรา 2(4) ให้ความหมายของคำว่า “ผู้เสียหาย” ว่า หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองต่างขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาท จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนในการกระทำความผิดทางอาญาด้วยดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4)
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ต้องพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนดไว้และข้อเท็จจริงในขณะที่ยื่นคำร้องว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่ยื่นคำร้องได้และขณะยื่นคำร้องจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 3,697,760 บาท แก่จำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องมีส่วนกระทำความผิด จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 ไม่รับคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” ซึ่งมาตรา 2 (4) ให้ความหมายของคำว่า “ผู้เสียหาย” ว่า หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองต่างขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาท จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนในการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า หากจำเลยที่ถูกฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 จะทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย และการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโดยยังไม่ได้พิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนประมาทตามฟ้องจริงหรือไม่นั้น เห็นว่าผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ต้องพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนดไว้และข้อเท็จจริงในขณะที่ยื่นคำร้องว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่ยื่นคำร้องได้และขณะยื่นคำร้องจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหายดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน