แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การทวงหนี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อให้ทวงถามหนี้สินจึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำเป็นหนังสือหรือทำหลักฐานเป็นหนังสือ
การทวงถามหนี้สินตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 8(9)เป็นการทวงถามหนี้สินตามปกติประการหนึ่ง แต่กรณีที่เจ้าหนี้จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมาย การทวงถามจะต้องทำเป็นหนังสือ โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นหนังสือของเจ้าหนี้โดยตรง อาจเป็นหนังสือของตัวแทนเจ้าหนี้ก็ได้ และการที่เจ้าหนี้มอบหมายให้ตัวแทนทวงถามลูกหนี้ก็ไม่ต้องทำเป็นหนังสือหรือทำหลักฐานเป็นหนังสือ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไปแล้วไม่ชำระ โจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามรวม 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยก็ไม่ชำระ จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และพิพากษาให้ล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยมีทรัพย์สินพอชำระหนี้ จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถาม และผู้ที่ลงชื่อในหนังสือทวงถามเป็นผู้ที่ไม่มีอำนาจลงนาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าการทวงถามให้ชำระหนี้จะต้องทำเป็นหนังสือจากเจ้าหนี้โดยตรง และการที่โจทก์ตั้งตัวแทนทวงถามก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วยนั้น เห็นว่า การทวงหนี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ เจ้าหนี้อาจทวงถามด้วยวาจาหรือทวงถามเป็นหนังสือก็ได้ ดังนั้นการตั้งตัวแทนเพื่อให้ทวงถามหนี้สินจึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำเป็นหนังสือหรือทำหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งการทวงถามหนี้สินตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 8(9) ก็เป็นการทวงถามหนี้สินตามปกติประการหนึ่ง แต่กรณีที่เจ้าหนี้จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายการทวงถามต้องทำเป็นหนังสือ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นหนังสือของเจ้าหนี้โดยตรง จะเป็นหนังสือของตัวแทนเจ้าหนี้ก็ได้ และการที่เจ้าหนี้มอบหมายให้ตัวแทนทวงถามลูกหนี้ก็ไม่ต้องทำเป็นหนังสือหรือทำหลักฐานเป็นหนังสือ
พิพากษายืน