คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6093/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องของโจทก์ร่วม และบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์สินของตนให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อมิให้โจทก์ร่วมได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเดือนละ 30,000 บาท ในคดีที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในฐานโกงเจ้าหนี้นั้น มิใช่กรณีที่โจทก์ร่วมรับได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสอง โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ให้จำเลยที่ 1 และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป แต่จำเลยที่ 1 กลับโอนขายไม้ยางพาราให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 350,000 บาท ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองกระทำไปเพื่อมิให้ผู้เสียหายได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจากจำเลยที่ 1 เหตุเกิดที่ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 350
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางบุญถม ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินไม่สามารถบังคับคดียึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2546 (ที่ถูก วันที่ 15 กันยายน 2546) ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2548 รวมเป็นเงิน 849,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ร่วมสามารถใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้จากคดีเดิม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก (ที่ถูก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (ที่ถูก อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะคดีสำหรับจำเลยที่ 1)
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 43 ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 กันยายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วม ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่64/2548 ต่อมาจำเลยที่ 1 โค่นต้นยางพาราในที่ดินที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินนำไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 350,000 บาทแต่จำเลยที่ 1 มิได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมตามคำพิพากษาดังกล่าว มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองตามขอหรือไม่นั้นโจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ร่วมตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2546 ตลอดมา โจทก์ร่วมจึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” ตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์ร่วมจะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมได้ต่อเมื่อโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองโดยตรง แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขายทรัพย์สินของตนให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อมิให้โจทก์ร่วมได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ที่โจทก์ร่วมเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเดือนละ 30,000 บาท นั้นเป็นค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 จึงมิใช่กรณีที่โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสอง โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกคำขอส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วมต่อไปว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์แห่งคดีไม่ใช่เรื่องร้ายแรงนักและโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็เป็นโทษจำคุกระยะสั้น การลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไปทีเดียวไม่น่าจะเป็นผลดีในการแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยทั้งสองกลับตนเป็นพลเมืองดี ประกอบกับตามคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองได้ความว่า จำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายยางพาราให้แก่จำเลยที่ 2 ไปลงทุนปลูกต้นยางพาราแทนต้นยางพาราเดิมที่ตัดขายไปอันเป็นอาชีพของจำเลยที่ 1 และใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูบุตร 2 คน ซึ่งนับว่ามีเหตุอันควรปรานี การให้โอกาสจำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยทั้งสองได้แก้ไขฟื้นฟูตนเอง โดยรอการลงโทษจำเลยทั้งสองน่าจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมมากกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รอการลงโทษจำเลยทั้งสองและปรับด้วยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share