คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12634/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยจำเลยที่ 2 ได้สลักหลังแล้วมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สลักหลังชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่บริษัท ก. แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทดังกล่าวยักยอกเช็คไป บริษัท ก. ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวอ้างต่อสู้ว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นมาโดยคบคิดกับจำเลยที่ 2 เพื่อฉ้อฉลจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาโดยสุจริต การที่จำเลยที่ 2 แต่ฝ่ายเดียวเป็นผู้ทุจริต จึงไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นใช้ยันต่อโจกท์ซึ่งเป็นผู้ทรงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 905 และมาตรา 916 เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือ โจทก์เป็นผู้ถือจึงนับได้ว่าเป็นผู้ทรง เมื่อโจทก์นำไปขึ้นเงินจากธนาคารตามเช็คไม่ได้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 200,764 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระให้แก่โจทก์จนเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 198,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 99,450 บาท นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2550 และต้นเงิน 99,450 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัทโกลเด้นกรุ๊พ มาสเตอร์เทรด จำกัด โดยส่งมอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานขายของบริษัทดังกล่าว จำเลยที่ 2 ไม่นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปมอบให้แก่บริษัทโกลเด้นกรุ๊พ มาสเตอร์เทรด จำกัด แต่นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับ
คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ และโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ได้สลักหลังแล้วมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สลักหลังชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่บริษัท โกลเด้นกรุ๊พ มาสเตอร์เทรด จำกัด แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทดังกล่าวยักยอกเช็คพิพาททั้งสองฉบับไป บริษัทโกลเด้นกรุ๊พ มาสเตอร์เทรด จำกัด ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวอ้างต่อสู้ว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นมาโดยคบคิดกับจำเลยที่ 2 เพื่อฉ้อฉลจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาโดยสุจริต การที่จำเลยที่ 2 แต่ฝ่ายเดียวเป็นผู้ทุจริต จึงไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นใช้ยันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 905 และมาตรา 916 เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือ โจทก์เป็นผู้ถือจึงนับได้ว่าเป็นผู้ทรง เมื่อโจทก์นำไปขึ้นเงินจากธนาคารตามเช็คไม่ได้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 198,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 99,450 บาท นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2550 และต้นเงิน 99,450 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 6,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share