แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 116 วรรคสาม จะบัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่สมาชิกเป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ” อันมีลักษณะเป็นสภาพบังคับให้คณะกรรมการดำเนินการฯ ต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกร้องขอก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่อำนาจของกรรมการดำเนินการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนที่จะเรียกประชุมได้โดยลำพัง เมื่อคณะกรรมการดำเนินการฯ ได้รับหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ชอบที่เรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการฯ เพื่อพิจารณากันเสียก่อน และมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการฯ จะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นการกระทำของคณะกรรมการดำเนินการฯ นั้น ตามระเบียบสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยว่าด้วย การเลือกตั้ง การประชุม และการดำเนินกิจการของคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2542 ข้อ 78
เมื่อผู้แทนของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 จำนวน 56 คน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของผู้แทนของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 400 คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการฯ ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 9 มกราคม 2544 การที่ ช. กรรมการดำเนินการกำหนดนัดประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกโจทก์ที่ 1 ร้องขอ โดยไม่ปรากฏว่ามีการเรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการฯ เพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าวก่อนมีมติให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญแต่อย่างใด ดังนั้น การเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ การประชุมและการลงมติในที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2544 จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมติที่กำหนดนัดวันประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2/2544 ในวันที่ 22 มกราคม 2544 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือว่าการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2/2544 เป็นการประชุมที่ไม่มีการเรียกนัดประชุมไว้ก่อน การประชุมและการมีมติในที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2544 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 9 มกราคม 2544 และวันที่ 22 มกราคม 2544 มีคำสั่งว่าจำเลยทั้งเก้าเป็นคณะกรรมการดำเนินการฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใด ๆ ที่จัดประชุมโดยคณะกรรมการดำเนินการฯ เสียงข้างน้อยของนายเชื้อชาย นายสันติภาพ นายสมคิด และจำเลยทั้งเก้า รวมทั้งเพิกถอนคำสั่งใด ๆ ของบุคคลดังกล่าวที่สั่งไม่ชอบในกิจการของโจทก์ที่ 1 ทั้งสิ้น
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 4 ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ถึงที่ 9 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเก้าไม่มีสภาพเป็นกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุดที่ 19 ซึ่งได้เลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่วิสามัญสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2544 และให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2544 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2544 เสียทั้งสิ้น กับให้จำเลยทั้งเก้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งเก้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจการสหกรณ์ทุกประเภททั่วราชอาณาจักรให้มีความเจริญก้าวหน้าอันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันการดำเนินงานของโจทก์ที่ 1 กระทำโดยคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำนวนไม่เกิน 15 คน คณะกรรมการดำเนินการฯ ชุดที่ 18 ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2542 ประกอบด้วย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 นายบัว นายสันติภาพ นายอัคราดร นายสมคิด นายวัฒนศักดิ์ นายสุนทร นายเชื้อชาย นายอดุลย์ นายสุรัตน์ นายพิพัฒน์ นางสาวศศิมาศ และนายสวัสดิ์ เดิมมีนายบัวเป็นประธานกรรมการดำเนินการ โจทก์ที่ 2 นายเชื้อชายและนายอัคราดรเป็นรองประธานกรรมการดำเนินการ นายอัศนีย์ เป็นผู้อำนวยการและเลขานุการคณะกรรมการดำเนินการฯ ต่อมานายบัวถึงแก่ความตายและนายอัศนีย์ลาออกจากตำแหน่ง คณะกรรมการดำเนินการฯ ชุดที่ 18 จึงเลือกตั้งนายเชื้อชายเป็นประธานกรรมการดำเนินการ และให้นายอัคราดรรักษาการผู้อำนวยการและเลขานุการคณะกรรมการดำเนินการฯ ซึ่งต่อมานายอัคราดรมีหนังสือถึงผู้แทนของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกโจทก์ที่ 1 เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2543 ในวันที่ 26 ธันวาคม 2544 แต่เมื่อถึงวันประชุมมีสมาชิกมาร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ผู้แทนของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกโจทก์ที่ 1 จำนวน 56 คน จึงร่วมกันมีหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการฯ ให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 9 มกราคม 2544 ซึ่งต่อมาในวันที่ 9 มกราคม 2544 มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2544 ที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการดำเนินการฯ ชุดที่ 18 ลาออกภายใน 3 วัน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถอดถอนตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป มติเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการฯ ชุดที่ 19 แทนชุดที่ 18 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการดำเนินการ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นกรรมการดำเนินการ มติกำหนดวันประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2/2544 ในวันที่ 22 มกราคม 2544 และมติอื่น ๆ ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2544 มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2/2544 ที่ประชุมมีมติให้รับรองรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2544 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเก้าในประเด็นแรกว่า การประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2544 และครั้งที่ 2/2544 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2544 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยทั้งเก้าฎีกาว่า เมื่อผู้แทนของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกจำนวนตั้งแต่หนึ่งในสิบของจำนวนผู้แทนของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกทั้งหมด ขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญแล้ว ย่อมเป็นหน้าที่และบทบังคับตามกฎหมายที่คณะกรรมการดำเนินการฯ ต้องเรียกประชุมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ แม้ไม่มีการประชุมของคณะกรรมการดำเนินการฯ ประธานคณะกรรมการดำเนินการย่อมมีหน้าที่และอำนาจที่จะเรียกประชุมได้โดยมอบให้ผู้อำนวยการในฐานะเลขานุการคณะกรรมการดำเนินการฯ มีหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้นั้น เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 116 วรรคสาม จะบัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่สมาชิกเป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ให้คณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ” อันมีลักษณะเป็นสภาพบังคับให้คณะกรรมการดำเนินการฯ ต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกร้องขอก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่อำนาจของกรรมการดำเนินการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนที่จะเรียกประชุมได้โดยลำพัง เมื่อคณะกรรมการดำเนินการฯ ได้รับหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ชอบที่เรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการฯ เพื่อพิจารณากันเสียก่อน และมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการฯ จะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นการกระทำของคณะกรรมการดำเนินการฯ นั้น ตามระเบียบสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยว่าด้วย การเลือกตั้ง การประชุม และการดำเนินกิจการของคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2542 ข้อ 78 เมื่อผู้แทนของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 จำนวน 56 คน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของผู้แทนของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 400 คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการฯ ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 9 มกราคม 2544 การที่นายอัคราดรในฐานะเลขานุการคณะกรรมการดำเนินการฯ และรักษาการผู้อำนวยการมีหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2543 เรียกประชุมใหญ่วิสามัญไปถึงผู้แทนของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกโจทก์ที่ 1 นั้น จำเลยทั้งเก้ามีนายวิทย์ และนายอัคราดรเบิกความในส่วนนี้เพียงว่า เมื่อสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ทำหนังสือร้องขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2543 แล้วนายเชื้อชายจึงกำหนดนัดประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกโจทก์ที่ 1 ร้องขอ โดยไม่ปรากฏว่ามีการเรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการฯ เพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าวก่อนมีมติให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญแต่อย่างใด ดังนั้นการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ การประชุมและการลงมติในที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2544 จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมติที่กำหนดนัดวันประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2/2544 ในวันที่ 22 มกราคม 2544 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือว่าการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2/2544 เป็นการประชุมที่ไม่มีการเรียกนัดประชุมไว้ก่อน การประชุมและการมีมติในที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2544 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ