แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ กระทำโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนกระทำได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคแรก ซึ่งไปรษณีย์ภัณฑ์ และพัสดุไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้ ในการนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับการสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่า เวรรักษาการณ์ของสำนักงานเป็นผู้แทนผู้รับ กรณีที่นำจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับ ให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่ายตามไปรษณีย์นิเทศพ.ศ. 2524 ข้อ 350 ข้อ 351 และข้อ 353 น. ผู้ที่รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์จากบุรุษไปรษณีย์ไว้ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม2528 นั้นเป็นยามที่บริษัท จ. จัดมาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้แก่ทรัพย์สินภายในบริเวณโรงงานและสำนักงานของโจทก์ตามสัญญาที่โจทก์เป็นผู้จ้าง การที่ น. ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ที่ตู้ยามบริเวณหน้าทางเข้าโรงงานและสำนักงานของโจทก์จึงเป็นการทำหน้าที่เป็นเวรรักษาการณ์ของสำนักงานโจทก์นั่นเองหาใช่เป็นยามหรือเวรรักษาการณ์ของบริษัท จ. ไม่ จึงถือได้ว่าน. เป็นผู้แทนโจทก์ และหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับคือโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2528 แล้ว เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันอังคาร ที่ 7 มกราคม 2529 จึงเป็นการนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ขัดต่อ ป.รัษฎากร มาตรา 30(2) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ปี 2525 เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1ตรวจสอบบัญชีของโจทก์แล้วอ้างว่า รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2519 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2521 โจทก์นำค่าข้าวโพดขาดสต๊อกตัดจำหน่ายค่าใช้จ่ายในการส่งข้าวโพดมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเป็นการไม่ชอบเพราะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(13) (18) จึงทำการปรับปรุงคิดคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ใหม่แล้วมีคำสั่งแจ้งการประเมินต่อโจทก์เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2525 ให้โจทก์ชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2519ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2521 เพิ่ม และเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน5,009,513.88 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือ มิฉะนั้นต้องเสียภาษีเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 โจทก์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องเพราะค่าข้าวโพดที่ขาดสต๊อกนั้นเนื่องจากข้าวโพดมีความชื้นจึงมีน้ำหนักมากขณะโจทก์รับเข้า แต่เมื่อตอนส่งลงเรือหรือตอนตรวจสต๊อกน้ำหนักจะลดลงในอัตราต้นละประมาณ 3 กิโลกรัม นอกจากนี้ข้าวโพดยังตกหล่นหายไปในระหว่างขนจากรถบรรทุกหรือจากเรือสู่ไซโล จากไซโลไปสู่เตาอบจากเตาอบไปสู่ไซโลเก็บ และข้าวโพดหมักหมมอยู่ก้นถังจับเกาะกับผนังคอนกรีตจนบูดเน่าต้องขูดทิ้งเป็นประจำ ข้าวโพดจึงขาดสต๊อกไปเป็นธรรมดา ข้าวโพดที่ขาดหายไป โจทก์ต้องซื้อชดเชยจึงเป็นรายจ่ายเพื่อการหากำไรในกิจการโดยเฉพาะ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายได้สำหรับค่าใช้จ่ายในการขนส่งข้าวโพดนั้น โจทก์ได้จ่ายไปจริงโดยเป็นค่าธรรมเนียมศุลกากร ค่าเฝ้านอกสถานที่ ค่าล่วงเวลาค่าบริการต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ โจทก์จึงมีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวมิได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงไม่มีสิทธิให้โจทก์นำเงินไปชำระเพราะขาดอายุความแล้ว โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการถูกต้องแล้วทุกประเด็น ผู้อุทธรณ์มีเหตุอันควรผ่อนผัน จึงลดเงินเพิ่มที่ได้เรียกเก็บไปแล้วลงคงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 30 ของเงินเพิ่มตามกฎหมาย โจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2528 และเห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบ ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่สั่งให้โจทก์ชำระเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2519 ถึงวันที่ 30มิถุนายน 2519 ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2519 ถึงวันที่ 30มิถุนายน 2520 และระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2520 ถึงวันที่ 30มิถุนายน 2521 กับเงินเพิ่มรวม 4,425,070.59 บาท เป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพิพากษาเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เสีย
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ได้ทราบผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2528 แต่ยื่นฟ้องวันที่ 7 มกราคม 2529เกินระยะเวลา 30 วัน นับแต่ได้ทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย ไม่ขาดอายุความตามข้อเท็จจริงลูกค้าของโจทก์ผู้นำข้าวโพดผ่านเข้าบริษัทโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบในข้าวโพดส่วนที่ขาดหายไป โจทก์ไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบจึงไม่มีรายจ่ายในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามการที่น้ำหนักข้าวโพดสูญเสียไปไม่ได้มีจำนวนมากมายเท่าฟ้องอีกทั้งโจทก์ไม่เคยนำราคาข้าวโพดส่วนที่โจทก์อ้างว่าขาดหายไปมาตัดยอดรายจ่ายของโจทก์แต่ละปีแต่เป็นการกล่าวอ้างขึ้นอย่างเลื่อนลอยไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการส่งข้าวโพด โจทก์อ้างว่าได้ใช้จ่ายไปจริงโดยจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมศุลกากร ค่าเฝ้านอกสถานที่ค่าล่วงเวลา ค่าบริการต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นั้น เจ้าพนักงานประเมินวินิจฉัยว่า เป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(18)โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดเป็นผู้รับเงินดังกล่าวไป และถึงแม้รายจ่ายดังกล่าวมีจริงก็ต้องห้ามมิให้นำมาคิดหักเป็นรายจ่ายของโจทก์เนื่องจากเป็นรายจ่ายส่วนตัว เป็นการให้โดยเสน่หาและยิ่งไปกว่านั้นโจทก์ไม่ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวไปแต่ประการใดโจทก์อ้างรายจ่ายส่วนนี้ขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงมีอำนาจฟ้อง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องคดีเกิน 30 วัน นับแต่วันรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ฝืนกำหนดเวลาตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30(2)โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในคดีนี้กระทำโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนอันกระทำได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 8 วรรคแรก ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ดังนั้นการที่จะถือว่าโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าววันใดจึงต้องนำไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2524 ซึ่งออกโดยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทมาใช้บังคับ ไปรษณีย์นิเทศดังกล่าว ข้อ 350ได้กำหนดไว้ว่า “ไปรษณีย์ภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้” ข้อ 351 กำหนดว่า “ในการนำจ่ายณ ที่อยู่ของผู้รับ การสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนผู้รับ คือบุคคลซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือน หรือที่สำนักงานทำการงานของผู้รับ เจ้าหน้าที่รับรองหรือผู้ดูแลของโรงแรมหรืออาคาร ผู้ทำหน้าที่เวรรับส่ง หรือเวรรักษาการณ์ของสำนักงานโรงเรียนหรือหน่วยทหาร” และข้อ 353 กำหนดว่า “ไปรษณีย์ภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์ที่นำจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับ ให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่าย” ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า นายนิเรนทร์ผู้ที่รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไว้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2528 นั้น เป็นยามที่บริษัทเจเอ็นเตอร์ไพร์ซ อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด จัดมาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้แก่ทรัพย์สินภายในบริเวณโรงงานและสำนักงานของโจทก์ตามสัญญาที่โจทก์เป็นผู้จ้าง การที่นายนิเรนทร์ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่ที่ตู้ยามบริเวณหน้าทางเข้าโรงงานและสำนักงานของโจทก์จึงเป็นการทำหน้าที่เป็นเวรรักษาการณ์ของสำนักงานโจทก์นั่นเองหาใช่เป็นยามหรือเวรรักษาการณ์ของบริษัทเจเอ็นเตอร์ไพร์ซอินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด ไม่ จึงถือได้ว่านายนิเรนทร์เป็นผู้แทนโจทก์และหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับคือโจทก์ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2528 แล้ว ตามไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2524ข้อ 351 และข้อ 353 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2528 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันอังคารที่ 7 มกราคม 2529 จึงเป็นการนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ขัดต่อประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีมาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.