คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 194/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างเป็นทายาทและ ไม่ขาดคุณสมบัติในการที่จะเป็นผู้จัดการมรดกแต่หากให้เป็นผู้จัดการมรดกทั้งสองฝ่ายแล้วคนหนึ่งคนใดก็ไม่อาจจัดการไปได้ ข้อขัดข้องในการจัดการมรดก ก็คงมีอยู่ต่อไปและไม่อาจแบ่งปันให้แก่ทายาทได้ ปรากฏว่า เจ้ามรดกมีทายาทชั้นบุตรที่เกิดกับผู้ร้อง 4 คน และเป็นทายาท ที่เป็นผู้เยาว์ถึง 3 คน ที่ผู้ร้องเป็นมารดาและเป็นผู้ใช้อำนาจ ปกครอง ถือได้ว่าผู้ร้องมีความสัมพันธ์กับทายาทส่วนใหญ่ใกล้ชิด มากกว่าผู้คัดค้านผู้ร้องจึงน่าจะเป็นผู้รักษาประโยชน์ของทายาท ส่วนใหญ่ได้ดีกว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทคนเดียว ดังนี้ ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดก แต่กำหนดเงื่อนไข ว่า ถ้าจะจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อภาระติดพันกับทรัพย์มรดกทางทะเบียน ให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิได้รับความ เห็นชอบจากทายาททุกคนแล้ว ผู้ร้อง จะต้องขออนุญาตศาลก่อนเป็นกรณีไป.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกของนายเฉลิมชัย องค์วิศิษฐ์ ผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นมรดกของผู้ตาย สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่ผู้เดียว ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและยกคำร้องของผู้ร้องเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านนั้นต่างก็เป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกและไม่ขาดคุณสมบัติในการที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านจะเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้หรือไม่นั้น การจัดการมรดกนั้นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่สำคัญในการรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันให้ทายาท อำนาจของผู้จัดการมรดกในกรณีที่มีสองคนนั้นการจัดการจะต้องดำเนินการร่วมกันทั้งสองคน เพราะกรณีไม่อาจจะหาเสียงข้างมากได้ ถ้าเกิดเป็นสองฝ่ายแล้ว คนหนึ่งคนใดก็ไม่อาจจัดการไปได้ การจัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ให้จัดการร่วมกันนั้นก็จะไม่มีผลข้อขัดข้องในการจัดการแบ่งปันมรดกก็คงมีอยู่ต่อไป ไม่อาจแบ่งปันให้แก่ทายาทได้ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของผู้ร้องและผู้คัดค้านตามที่ปรากฏทั้งในคำร้อง คำคัดค้านและการนำสืบของทั้งสองฝ่ายแล้วกรณีที่มีข้อโต้แย้งกันก็คือทรัพย์หลายรายการตามที่ปรากฏในคำร้องนั้นเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกหรือไม่ เมื่อทั้งสองฝ่ายมีข้อโต้แย้งกันอย่างนี้แล้ว การที่จะให้จัดการร่วมกันในการรวบรวมทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจึงมีข้อแสดงให้เห็นเป็นเบื้องต้นว่าจะไม่อาจที่จะจัดการร่วมกันได้ในเมื่อทั้งสองฝ่ายไม่อาจจะร่วมกันจัดการได้เช่นนี้ กรณีก็ต้องพิจารณาว่าควรที่จะให้ผู้ร้องจัดการมรดกไปฝ่ายเดียวหรือไม่ ในข้อนี้เมื่อได้พิจารณาถึงจำนวนทายาทตามที่ปรากฏในบัญชีเครือญาติของเจ้ามรดกแล้วจะเห็นได้ว่าเจ้ามรดกมีทายาทชั้นบุตรที่เกิดกับผู้ร้องถึง 4 คน และเป็นทายาทที่เป็นผู้เยาว์ถึง 3 คน ที่ผู้ร้องเป็นมารดาและอยู่ในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจปกครองตามกฎหมาย ถือได้ว่าผู้ร้องมีความสัมพันธ์กับทายาทส่วนใหญ่ใกล้ชิดมากกว่าผู้คัดค้าน ดังนั้น ผู้ร้องจึงน่าจะเป็นผู้รักษาประโยชน์ของทายาทส่วนใหญ่ได้ดีกว่าผู้คัดค้าน ทั้งการที่ผู้คัดค้านยืนยันข้อเท็จจริงตลอดมา ตั้งแต่ในคำร้องคัดค้านถึงในชั้นยื่นคำแก้ฎีกาว่า ทรัพย์หลายรายการที่ผู้ร้องระบุในบัญชีทรัพย์ว่าเป็นทรัพย์มรดกนั้น ผู้คัดค้านว่าเป็นของบุคคลอื่นอันเป็นการกล่าวอ้างในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของเจ้ามรดกซึ่งถ้าผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วยก็จะกระทำการในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายที่ผู้ร้องได้แสดงไว้ในชั้นต้นโดยเหตุผลสองประการนี้ จึงเป็นที่เห็นได้ว่าน่าที่จะให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกไปฝ่ายเดียว แต่เพื่อมิให้เป็นการเสียหายแก่ฝ่ายผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทคนเดียวในกรณีที่ผู้ร้องจะจัดการมรดกไปในทางจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อภาระติดพันกับทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้แก่บุคคลภายนอก โดยมิได้รับความเห็นชอบจากทายาททุกคนนั้น ต้องขออนุญาตจากศาลก่อนเป็นกรณีไป จึงสมควรวางเงื่อนไขดังกล่าวในคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเฉลิมชัยองค์วิศิษฐ์ ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าถ้าจะจำหน่ายจ่ายโอน หรือก่อภาระติดพันกับทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้แก่บุคคลที่มิใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกโดยมิได้รับความยินยอมจากทายาททุกคนแล้วจะต้องขออนุญาตศาลก่อนเป็นกรณีไป…”.

Share