คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จะเรียกบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความเข้ามาในคดีนั้นจะต้องแสดงเหตุผลว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) แต่ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอให้เรียกบริษัท ผ. เข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยทั้งสองนั้นได้ความว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่บริษัท ผ. ต่อมาบริษัท ผ. ได้สลักหลังโอนให้โจทก์ ดังนั้นหากศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจึงไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากบริษัท ผ. ผู้สลักหลังได้ กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเรียกบริษัท ผ. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ เป็นต้นเงิน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 24,575 บาท
จำเลยทั้สองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต แต่ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้เรียกบริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วมเสีย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 กันยายน 2541) ไม่เกิน 24,575 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.6 เมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2540 จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาย่อย ถนนบางขุนเทียน จำนวนเงิน 400,000 บาท ให้แก่บริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด ต่อมาบริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้สลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย ตามสำเนาเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.3 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่เรียกบริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า หากศาลเรียกบริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด เข้ามาในคดีแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรมอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จำเลยทั้งสองสามารถที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยจากบริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัดเพื่อให้ชำระหนี้แทนจำเลยทั้งสองได้ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) แล้วนั้น เห็นว่า การที่จะเรียกบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความเข้ามาในคดีนั้นจะต้องแสดงเหตุผลว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้น แพ้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) แต่ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอให้เรียกบริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยทั้งสองนั้นได้ความว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่บริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด ต่อมาบริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้สลักหลังโอนให้แก่โจทก์ ดังนั้น หากศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจึงไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากบริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้สลักหลังได้ กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเรียกบริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระค่าก่อสร้างงวดที่ 12 ให้แก่บริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด ต่อมาบริษัทไผ่งาม คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้สลักหลังเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าวัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้าง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย หาใช่เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลดั่งที่จำเลยทั้งสองอ้างไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share