คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 วางหลักไว้ว่า การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายนั้น คำว่าสิทธิอื่น ๆต้องเป็นสิทธิที่เทียบเคียงได้กับบุริมสิทธิ แต่กรณีของโจทก์แม้จะได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทกับจำเลยที่ 1 ก่อนที่นายอำเภอจะมีคำสั่งให้ยึดที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าว และโจทก์ได้ชำระราคาให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่สิทธิของโจทก์เป็นเพียงบุคคลสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวได้ก่อนบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 เท่านั้น ต่างจากหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อรัฐ เป็นหนี้บุริมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253 ทั้งขณะที่นายอำเภอมีคำสั่งให้ยึดที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระภาษีนั้น ที่ดินและบ้านพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 อยู่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจดทะเบียนซื้อขายโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 12 ทวิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้าน จำเลยที่ 1 นำบ้านและที่ดินไปจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบุรี ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายบ้านและที่ดินให้โจทก์เป็นเงิน 680,000 บาท โดยให้โจทก์ชำระหนี้ให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบุรี แทนจำเลยที่ 1 จนกว่าจะครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้โจทก์โจทก์ชำระหนี้ค่าบ้านและที่ดินแทนจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นแต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนบ้านและที่ดินให้โจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 3 มีคำสั่งอายัดที่ดินและบ้านดังกล่าวเพราะจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้าง โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ถอนการอายัดแล้ว แต่จำเลยที่ 3 แจ้งว่า ต้องมีคำพิพากษาของศาลให้ถอนอายัด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีอำนาจอายัดที่ดินพร้อมบ้านได้ โจทก์ในฐานะผู้ซื้อที่ดินและบ้านโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนย่อมได้รับความเสียหายไม่สามารถรับโอนบ้านและที่ดินจากจำเลยที่ 1 ได้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ที่อายัดที่ดินและบ้านให้จำเลยที่ 1 จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านดังกล่าวให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสุบินก่อสร้าง มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ได้ค้างชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 2,740,818.97 บาท จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรค้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดสุบินก่อสร้างโดยไม่จำกัดจำนวน และต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัวด้วย จำเลยที่ 3 มีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าภาษีที่ค้างชำระไปชำระให้จำเลยที่ 3 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระ จำเลยที่ 3 จึงใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 สั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะคำสั่งยึดและอายัดดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 26765 ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดสุบินก่อสร้างเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26765 ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 24 ตารางวาพร้อมบ้านพิพาท เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมบ้านพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบุรี ต่อมาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ โดยในวันทำสัญญาโจทก์ได้ชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวนหนึ่ง ส่วนราคาที่เหลือให้โจทก์เป็นผู้ผ่อนชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวนหนึ่ง ส่วนราคาที่เหลือให้โจทก์เป็นผู้ผ่อนชำระให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบุรี เพื่อไถ่ถอนจำนอง เมื่อวันที่27 ตุลาคม 2538 นายอำเภอเมืองเพชรบุรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ยึดทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดสุบินก่อสร้างที่ค้างชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ พร้อมเงินเพิ่มและภาษีเงินได้ของนิติบุคคลให้แก่รัฐ จึงได้มีการยึดที่ดินพร้อมบ้านพิพาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดสุบินก่อสร้าง ส่วนโจทก์ได้ผ่อนชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบุรี เพื่อไถ่ถอนจำนองจนครบถ้วนในวันที่ 25 ธันวาคม2538 ครั้นวันที่ 26 ธันวาคม 2538 โจทก์จึงไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมบ้านพิพาทจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบุรี และขอโอนที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ แต่สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีไม่ดำเนินการให้เพราะที่ดินพร้อมบ้านพิพาทถูกคำสั่งยึดไว้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า โจทก์ขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินพร้อมบ้านพิพาทได้หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 บัญญัติให้อำนาจนายอำเภอเมืองเพชรบุรียึดทรัพย์ของผู้ค้างชำระภาษีอากรโดยไม่ต้องฟ้องศาลได้ก่อนก็ตาม แต่ผลของการยึดทรัพย์สินดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่วางหลักไว้ว่าการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อโจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิที่จะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน จึงถือเป็นสิทธิอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้โจทก์ตั้งแต่ปี 2534 โดยโจทก์ก็ได้ชำระราคาจนครบถ้วนแล้ว แม้จะเป็นการชำระราคาครบถ้วนภายหลังจากมีคำสั่งให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท กรณีก็ไม่ใช่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างภายหลังจากมีการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตามมาตรา 305(1)แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะสิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้เกิดขึ้นก่อนแล้ว ดังนั้น ผลการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโจทก์ย่อมขอให้เพิกถอนการยึดได้นั้น เห็นว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเท่านั้น แม้ภายหลังโจทก์ได้ชำระราคาที่ดินพร้อมบ้านพิพาทจนครบถ้วนแล้ว แต่ตราบใดที่ยังมิได้จดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กัน สิทธิของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ก็เป็นเพียงบุคคลสิทธิเท่านั้น การที่มาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งวางหลักไว้ว่า การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินได้ตามกฎหมายดังที่โจทก์ฎีกานั้น คำว่าสิทธิอื่น ๆ ในบทบัญญัติมาตรา 287 ดังกล่าว ต้องเป็นสิทธิที่โจทก์มีอยู่เหนือที่ดินพร้อมบ้านของจำเลยที่ 1 อันเป็นสิทธิที่เทียบเคียงได้กับบุริมสิทธิอันเป็นสิทธิประเภทแรกที่อ้างถึง แต่กรณีของโจทก์แม้จะได้ทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยที่ 1 ก่อนที่นายอำเภอเมืองเพชรบุรีจะมีคำสั่งให้ยึดที่ดินพร้อมบ้านพิพาท และโจทก์ได้ชำระค่าซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว สิทธิของโจทก์ที่มีตามสัญญาที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์เป็นเพียงบุคคลสิทธิที่โจทก์มีสิทธิที่จะให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ได้ก่อนผู้มีบุคคลสิทธิอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ดังเช่นที่โจทก์ฎีกาเท่านั้น ต่างจากหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อรัฐนั้นเป็นหนี้บุริมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253 และขณะที่นายอำเภอเมืองเพชรบุรีมีคำสั่งให้ยึดที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระค่าภาษีอากรที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุบินก่อสร้างค้างชำระให้แก่รัฐนั้น ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 อยู่ ดังนั้น ภายหลังที่โจทก์ชำระราคาซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจที่จะจดทะเบียนซื้อขายโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแล้วพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share