แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบต่อเนื่องมาจากกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ระบุเหตุผลในการสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับคำร้องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา และจำเลยได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นนั้นแล้วจึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่อีกซึ่งจำเลยเข้าใจถึงเหตุที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นแล้วคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้น จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาหากผู้ยื่นคำขอไม่พอใจคำสั่งของศาลชั้นต้น ป.วิ.พ.ได้บัญญัติทางแก้เป็นขั้นตอนที่ผู้ยื่นคำขอจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปคือ ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้พิจารณาคำขอนั้นใหม่ เพื่ออนุญาตให้ตนนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 156 วรรคสี่ หรืออุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันมีคำสั่งตามมาตรา 156 วรรคห้า ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลย และจำเลยได้เลือกทางแก้โดยใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตามมาตรา 156 วรรคห้า แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เพราะยื่นเกินกำหนด จำเลยก็จะกลับมาขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถานั้นใหม่เพื่ออนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจนตาม มาตรา 156 วรรคสี่ อีกไม่ได้