แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยถูกตำรวจจับกุมตัวและควบคุมตัวไว้จนกระทั่งถึงวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้แจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีกับโจทก์ก็ตาม จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างนั้นให้โจทก์ เพราะโจทก์จะได้รับค่าจ้างเฉพาะในวันที่โจทก์มาทำงานให้แก่จำเลยเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายเป็นเงิน2,650 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 18,990 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 2,060 บาท และค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 60,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 633 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2533ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ 2.6 ว่าเหตุที่โจทก์ไม่ได้มาทำงานให้แก่จำเลยนั้น มิใช่ความผิดของโจทก์แต่เป็นเพราะจำเลยได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ในวันที่ 19พฤษภาคม 2533 และได้เลิกจ้างโจทก์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2533จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 25 พฤษภาคม 2533รวม 13 วัน เป็นเงิน 1,371.50 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จพิเคราะห์แล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 2 ได้ให้ความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้ว่าหมายความว่าเงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วยทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนดคำนวณหรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไรและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานในข้อดังกล่าว เห็นได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยจะได้รับค่าจ้างซึ่งเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานเป็นรายวันเฉพาะในวันที่โจทก์มาทำงานให้แก่จำเลยเท่านั้น หากวันใดโจทก์ไม่มาทำงานก็จะไม่ได้รับค่าจ้างคดีนี้ได้ความว่าโจทก์ไม่ได้มาทำงานให้แก่จำเลยเนื่องจากโจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและควบคุมตัวไว้สอบสวนตั้งแต่วันที่ 19พฤษภาคม 2533 จนถึงวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ แม้จำเลยจะเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีโจทก์และโจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและควบคุมตัวไว้ทำการสอบสวนโจทก์จึงไม่ได้มาทำงานให้แก่จำเลยก็ไม่ใช่เป็นเหตุที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างนั้นให้แก่โจทก์จำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2533โจทก์คงมิได้รับค่าจ้างที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายให้ตั้งแต่วันที่ 13ถึง 18 พฤษภาคม 2533 รวม 6 วัน แต่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่โจทก์ไม่ได้มาทำงานตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2533 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้ทำการสอบสวนจึงถึงวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้าง”
พิพากษายืน