คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่มีกำหนดระยะเวลา ไม่มีการเบิกเงินหรือนำเงินเข้าบัญชี จึงไม่มีการเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันอีกต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาอีกต่อไป สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีซึ่งผู้ฝากเงินต้องนำเงินเข้าบัญชีและมีการหักทอนกันเป็นระยะเวลาอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงสิ้นสุดนับแต่ถึงกำหนดในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 หาจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ก่อนสัญญาจึงจะเลิกกันไม่ ทั้งเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงแล้วก็ไม่จำต้องมีการบอกเลิกสัญญาอีก เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปนับแต่วันสิ้นสุดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคสอง
ข้อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้ส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 5 ของเดือน มิฉะนั้นยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับจำนวนเงินเบิกเกินบัญชีทันทีที่ค้างชำระเป็นคราว ๆ ไป และให้กลายเป็นเงินเบิกเกินบัญชี กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้เป็นรายเดือน ดังนั้น ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของสัญญานั้นยังไม่ถึงหนึ่งเดือนตามสัญญา เจ้าหนี้จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ ปัญหานี้แม้เจ้าพนักงาน-พิทักษ์ทรัพย์มิได้ฎีกา แต่เป็นดอกเบี้ยที่จำเลยไม่ต้องรับผิด และกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายพิเศษมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ให้ได้รับชำระหนี้หรือส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรม ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153
คดีนี้เจ้าหนี้เป็นโจทก์ผู้ฟ้องคดี ดอกเบี้ยค้างส่งจึงนับแต่วันก่อนฟ้องย้อนหลังไปซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกได้เพียง 5 ปี ดอกเบี้ยก่อนนั้นเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องไปจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกได้เพราะมิใช่ดอกเบี้ยค้างส่ง แต่เมื่อเจ้าหนี้ไม่ฎีกา จึงให้ได้รับดอกเบี้ยทั้งหมดเพียง5 ปี ตามศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

Share