แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคาร ทำปลอมสมุดเงินฝากของผู้เสียหายทั้งสาม จากนั้นนำไปอ้างต่อผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าจำเลยนำเงินของผู้เสียหายฝากธนาคารเรียบร้อยแล้วการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมแม้จะเกิดขึ้นต่างวาระกันกับความผิดฐานยักยอกก็ตามแต่จำเลยมีเจตนาที่จะใช้เอกสารปลอมดังกล่าวเป็นหลักฐานเพื่อยักยอกเงินของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน เมื่อจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานยักยอกคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ก็ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า ระหว่างวันที่ 8 กันยายน 2529ถึง 9 กันยายน 2529 เวลากลางวัน วันที่ 1 สิงหาคม 2529 ถึง29 สิงหาคม 2529 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน และวันที่ 7กันยายน 2529 ถึง 11 กันยายน 2529 เวลากลางวัน จำเลยปลอมสมุดเงินฝากประจำของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาเชียงใหม่โดยเติมข้อความในช่องผู้ฝากเงินว่า คุณสุนีย์ พิชัย ฝากเงิน10,000 บาท นางเล็ก พิชัย ฝากเงิน 50,000 บาท และคุณขวัญเรือน แร้ศรี ฝากเงิน 11,000 บาท ต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2529, 29 สิงหาคม 2529และ 11 กันยายน 2529 แล้วลงลายมือชื่อจำเลย ประทับตราของธนาคารลงในช่องผู้รับมอบอำนาจโดยไม่ผ่านวิธีการตามระเบียบของธนาคารเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ เบียดบังเงินดังกล่าวเป็นของตนเองโดยทุจริต โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวสุนีย์ นางเล็ก นางขวัญเรือน กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดและประชาชนอื่น ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2529 ระหว่างวันที่ 29สิงหาคม 2529 ถึง 16 มกราคม 2530 และระหว่างวันที่ 7 กันยายน 2529ถึง 16 มกราคม 2530 หลังจากจำเลยปลอมสมุดเงินฝากประจำตัวแล้วได้นำสมุดเงินฝากดังกล่าวไปอ้างแสดงต่อนางสาวสุนีย์ นางเล็กนางขวัญเรือน เพื่อแสดงว่าจำเลยนำเงินฝากของบุคคลดังกล่าวเข้าฝากต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาเชียงใหม่แล้วและธนาคารดังกล่าวได้ออกสมุดเงินฝากประจำให้ไว้เป็นหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อนางสาวสุนีย์ นางเล็กนางขวัญเรือน กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด และประชาชนเหตุเกิดที่ตำบลช้างม่อย ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ตำบลสันนาเม็ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวพันกันจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 135/2530,243/2530, 244/2530 กับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1687/2530 ถึง1690/2530 ของศาลชั้นต้นขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,265 และ 268 ริบสมุดเงินฝากของกลาง และนับโทษของจำเลยต่อจากคดีดังกล่าว จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสามสำนวน แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายตามฟ้องทั้ง 3 สำนวนต่างมอบเงินให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาเชียงใหม่ เพื่อนำเข้าฝากไว้ที่ธนาคารดังกล่าว แต่จำเลยกลับเบียดบังเงินของผู้เสียหายที่มอบให้ดังกล่าวเป็นของจำเลยโดยทุจริต แล้วจำเลยได้นำสมุดเงินฝากตามฟ้องที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปอ้างต่อผู้เสียหาย จำเลยถูกฟ้องฐานยักยอกเงินของผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามฟ้องอีกดังนี้ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมกับความผิดฐานยักยอกที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วนั้น เป็นกรรมเดียวกันหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าที่จำเลยทำปลอมสมุดเงินฝากขึ้น และนำไปอ้างต่อผู้เสียหาย ก็เพื่อให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าจำเลยนำเงินของผู้เสียหายฝากธนาคารเรียบร้อยแล้ว แม้การปลอมและการใช้สมุดเงินฝากที่ทำปลอมขึ้นจะต่างวาระกันกับความผิดฐานยักยอกแต่ก็เป็นเจตนาของจำเลยที่จะใช้สมุดเงินฝากที่ทำปลอมขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อยักยอกเงินของผู้เสียหายนั่นเอง ความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและฐานยักยอกจึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นกรรมเดียวกัน เมื่อจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานยักยอกคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนี้สิทธิที่จะฟ้องความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวกันกับความผิดฐานยักยอก ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน