แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนถูกฟ้องให้ล้มละลาย จำเลยมีหนี้สิน 100 ล้านบาทเศษ และมีเจ้าหนี้ 40 กว่าราย ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งได้ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยได้ชำระหนี้ให้ผู้คัดค้านในวันทำสัญญา 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ยังค้างชำระอยู่จะชำระให้เสร็จภายใน 10 ปี และจะเริ่มชำระครั้งแรกในปีที่ 5 เป็นต้นไปจนกว่าจะหมด หลังจากนั้นผู้คัดค้านได้ถอนฟ้องคดี อันเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยให้เป็นบุคคลล้มละลาย ในคราวเดียวกันนั้น มีเจ้าหนี้อื่นอีก 7 – 8 ราย ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำนองเดียวกันนั้นกับจำเลยด้วย ขณะนั้นจำเลยมีฐานะการเงินไม่ดี โดยมีฐานะการเงินพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้เฉพาะเท่าที่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยเท่านั้น ดังนี้ การที่จำเลยชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านไปดังกล่าวย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่นซึ่งมิได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย จึงเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งประสงค์ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับชำระหนี้โดยเสมอภาคทั่วหน้ากัน เจ้าพนักงานพิทักษ์จึงขอให้เพิกถอนการชำระหนี้ เอาเงินที่ได้ชำระไปกลับคืนมาเข้ากองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายได้ ตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ย่อยาว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า บริษัทจำเลยถูกฟ้องขอให้ล้มละลาย เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๑๒ และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ในการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๑๒ บริษัท โชคชัย จำกัด ได้ยื่นฟ้องบริษัทจำเลยต่อศาลแพ่งให้ชำระค่าเช่าทรัพย์สินและค่าเสียหายเป็นเงิน ๑,๘๒๔,๗๓๖.๑๐ บาท ต่อมาปลายเดือนมกราคม ๒๕๑๒ บริษัทจำเลยได้ทำความตกลงประนอมหนี้กับบริษัท โชคชัย จำกัด โดยบริษัทจำเลยยอมชำระเงินให้แก่บริษัท โชคชัย จำกัด ๕๒๕,๐๐๐ บาท ซึ่งบริษัท โชคชัย จำกัด ได้รับเงินจากบริษัทจำเลยแล้ว แลได้ขอถอนฟ้องคดีดังกล่าวในเวลาต่อมา ปรากฏตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ๔๔๖/๒๕๑๒ การโอนทรัพย์สินและการกระทำของจำเลยดังกล่าวได้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย โดยจำเลยมุ่งหมายให้บริษัท โชคชัย จำกัด เจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ต้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนระหว่างบริษัทจำเลยกับบริษัท โชคชัย จำกัด ดังกล่าว ให้บริษัทโชคชัย จำกัด ชำระเงิน ๕๒๕,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
บริษัท โชคชัย จำกัด ยื่นคำคัดค้านว่า บริษัทจำเลยเป็นลูกหนี้ผู้คัดค้านด้วยมูลหนี้ค่าเช่าเครื่องจักรกลไปใช้สร้างทาง และค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาเช่าไม่น้อยกว่า ๑,๘๒๔,๗๓๖.๑๐ บาท ผู้คัดค้านจึงฟ้องเรียกให้ชำระหนี้ต่อมาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความลดยอดหนี้เหลือเพียง ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท ชำระหนี้ในวันทำสัญญา ๕๒๕,๐๐๐ บาท หนี้ที่เหลือจะเริ่มชำระครั้งแรกในปีที่ ๕ โดยจะผ่อนชำระให้เสร็จภายใน ๑๐ ปี การกระทำดังกล่าวมิได้มีเจตนาที่จะให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่น แต่เป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยเจตนาสุจริต ที่จะบรรเทาภาระการชำระหนี้ของผู้ล้มละลายให้สามารถดำเนินกิจการแก้ไขฐานะของตนให้ดีขึ้น ไม่เข้าลักษณะที่จะพึงเพิกถอนได้ตามกฎหมายล้มละลาย เงิน ๕๒๕,๐๐๐ บาท ที่ผู้คัดค้านได้รับเงินก็เป็นเงินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นผู้จ่าย ไม่ใช่เป็นการโอนทรัพย์สินบางอย่างของผู้ล้มละลายโดยตรง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างบิรษัทจำเลยกับบริษัทผู้คัดค้าน ให้ผู้คัดค้านชำระเงิน ๕๒๕,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทจำเลยประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทางให้แก่กรมทางหลวง ก่อนถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย บริษัทจำเลยเป็นหนี้สินอยู่ประมาณ ๑๐๐ ล้านเศษ โดยมีเจ้าหนี้ประมาณ ๔๐ กว่าราย ต่อมาผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งได้ยื่นฟ้องบริษัทจำเลย แล้วได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันมีข้อความตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายคำคัดค้านใจความว่า บริษัทจำเลยชำระหนี้ให้ผู้คัดค้านในวันทำสัญญาเพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน ๕๒๕,๐๐๐ บาท ส่วนที่ยังค้างอยู่ บริษัทจำเลยจะชำระให้เสร็จภายใน ๑๐ ปี และจะเริ่มชำระครั้งแรกในปีที่ ๕ เป็นต้นไปจนกว่าจะหมดสิ้น หลังจากนั้นผู้คัดค้านได้ถอนฟ้องคดี โดยผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้จำนวนเงิน ๕๒๕,๐๐๐ บาทจากบริษัทจำเลยแล้ว อันเป็นการกระทำในระหว่างระยะเวลา ๓ เดือน ก่อนที่โจทก์จะฟ้องบริษัทจำเลยให้เป็นบุคคลล้มละลาย ในคราวเดียวกันนั้นมีเจ้าหนี้อื่นอีก ๗ – ๘ ราย ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำนองเดียวกันนั้นกับบริษัทจำเลยด้วย เป็นที่เห็นได้ว่าบริษัทจำเลยหาได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ ๔๐ กว่ารายโดยทั่วหน้ากันไม่ ขณะนั้นบริษัทจำเลยมีฐานะการเงินไม่ดี จนถึงกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่สั่งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมการเงินของบริษัทจำเลย และตามสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายคำคัดค้านก็บ่งชัดอยู่แล้วว่า บริษัทจำเลยมีฐานะการเงินพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้เฉพาะเท่าที่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ๘ – ๙ ราย และชำระหนี้ได้เพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่ยังค้างอยู่นั้นขอผัดชำระไปเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๑๐ ปี โดยจะชำระครั้งแรกในปีที่ ๕ เป็นต้นไปจนกว่าจะหมดสิ้น เห็นได้ว่าที่บริษัทจำเลยชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านไปตามจำนวนดังกล่าว ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่นซึ่งมิได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย จึงเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งประสงค์ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับชำระหนี้โดยเสมอภาคทั่วหน้ากัน คดีฟังได้ชัดแจ้งว่าบริษัทจำเลยกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยผู้ล้มละลายจึงขอให้เพิกถอนการชำระหนี้เอาเงินที่ได้ชำระหนี้ไปจำนวน ๕๒๕,๐๐๐ บาท กลับคืนมาเข้ากองทรัพย์สินของบริษัทจำเลยผู้ล้มละลายได้ตามมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น