แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่2รับโอนที่ดินมาจากจำเลยที่1ซึ่งเป็นมารดาและผู้จัดการมรดกของม. ซึ่งเป็นบิดายังถือไม่ได้ว่าเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกอันจะถูกกำจัดมิให้รับมรดก จำเลยที่1รับโอนที่พิพาทมาในฐานะเป็นมรดกของม.โดยยังไม่ได้มีการแบ่งให้แก่ทายาทอื่นและต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของม. ถือว่าจำเลยที่1ครอบครองที่พิพาทไว้แทนทายาทอื่นด้วยทั้งจำเลยที่1ก็ไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองไปยังทายาทอื่นแม้จะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นทายาทของม. ฟ้องขอแบ่งมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกันจากจำเลยที่1แม้พ้นกำหนด1ปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือเมื่อโจทก์ทั้งหกรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกคดีก็ไม่ขาดอายุความส่วนที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่1และที่2นั้นมิใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลแต่เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคืนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้จึงไม่ขาดอายุความเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ทั้งหกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5นางแว่ว เรืองนก และจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายม้วน ลำใยกับจำเลยที่ 1 ซึ่งแต่งงานอยู่กินด้วยกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตั้งแต่ปี 2473 นางแว่วถึงแก่กรรมเมื่อปี 2510 โจทก์ที่ 6ผู้เป็นบุตรรับมรดกแทนที่ โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายม้วนตามคำสั่งศาล นายม้วนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2514 โจทก์ทั้งหกและจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับมรดกของนายม้วนเท่าเทียมกันนายม้วนมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 เลขที่ 671 และเลขที่ 262 ปี 2514หลังจากนายม้วนถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 671 และ 2373 โดยให้สัญญาว่าจะครอบครองที่ดินดังกล่าวแทนโจทก์ทั้งหกและจำเลยที่ 2 แล้วจะแบ่งให้ในภายหลังต่อมาปี 2518 จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งจากศาลจังหวัดสมุทรปราการให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายม้วนร่วมกันแต่จำเลยที่ 1 มิได้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทแต่อย่างใดหลังจากนายม้วนถึงแก่กรรมโจทก์ทั้งหกและจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินมรดกตลอดมา จนกระทั่งประมาณเดือนพฤษภาคม 2526 จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาโดยจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีว่า โจทก์ทั้งหกมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวด้วยการกระทำของจำเลยทั้งสองถือว่าเป็นการร่วมกันเบียดบังยักยอกถ่ายเททรัพย์มรดกเพื่อไม่ให้ทายาทอื่นได้รับมรดก ย่อมต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 โจทก์ทั้งหกจึงร้องขอให้พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการฟ้องจำเลยที่ 1ให้แบ่งปันที่ดินมรดกทั้ง 3 แปลงแก่โจทก์ทั้งหก ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว แต่ศาลไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 เพราะคดีดังกล่าวไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนเข้ามาด้วย ขอให้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 และเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 ให้จำเลยที่ 1และหรือที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งหกถือกรรมสิทธิ์รวมกันเป็นส่วนเท่า ๆ กัน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า คดีขาดอายุความเพราะโจทก์ทั้งหกรู้แล้วว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนภายใน 1 ปี และมิได้ฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์มรดกภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม ที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายม้วน แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ให้นายม้วนลงชื่อในโฉนด หลังจากนายม้วนถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวไม่เคยสัญญาว่าจะแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งหกจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 มาตลอดในฐานะเป็นเจ้าของโดยสงบและเปิดเผยเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว โดยโจทก์ทั้งหกไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 โดยสุจริต จำเลยทั้งสองไม่ถูกกำจัดสิทธิในการรับมรดก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 ตำบลบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2526 เฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งหกซึ่งมีอยู่รวม 6 ใน 12 ส่วน แล้วให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนที่เพิกถอนการโอนดังกล่าวให้โจทก์ทั้งหกคนละ 1 ใน 6 ส่วน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ ทั้ง หก และ จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง หก และ จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งหกและจำเลยที่ 2 แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นายม้วน ลำใยกับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2473 มีบุตรด้วยกัน 7 คน คือ จำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และนางแว่วเรืองนก นางแว่วถึงแก่กรรมก่อนนายม้วน โจทก์ที่ 6เป็นผู้รับมรดกแทนที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 ตำบลบ้านระกาศ (ระกาศ)อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวาเดิมมีชื่อนายม้วนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม2526 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกว่า จำเลยที่ 2 ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 มาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาและผู้จัดการมรดกของนายม้วนนั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกอันจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายม้วนบิดา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการแรกว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 เป็นทรัพย์มรดกของนายม้วนหรือไม่ในข้อนี้ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 ในฐานะส่วนตัว ไม่ใช่รับไว้ครอบครองแทนทายาทอื่นจึงไม่เป็นทรัพย์ที่จะนำมาจัดแบ่งให้ทายาทอื่นของนายม้วนนั้น เห็นว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2373 มีชื่อนายม้วนเป็นเจ้าของในโฉนดเมื่อนายม้วนถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่29 กันยายน 2514 ขอประกาศรับมรดกของนายม้วน โดยระบุว่านายม้วนยังมีบุตรอีก 7 คน ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.21 นอกจากนี้ในการจดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 ตามเอกสารหมาย จ.4เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2514 ก็ระบุไว้ชัดว่าจำเลยที่ 1 รับโอนมรดกของนายม้วน จึงฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 เป็นมรดกของนายม้วนที่ยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทของนายม้วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ในคดีอาญาที่โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 2ในความผิดฐานรับของโจร ศาลฎีกาได้พิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์โดยฟังข้อเท็จจริงตอนหนึ่งว่า นางเผือกขอรับมรดกที่ดินพิพาท(โฉนดเลขที่ 2373) ตามฟ้องเพื่อตนเองตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2897/2530 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างนายเหมือน ลำใยที่ 1 กับพวก รวม 6 คน โจทก์ นางจำลอง สุวรรณเจริญ(จำเลยที่ 2 ในคดีนี้) จำเลย การพิจารณาในคดีนี้จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวนั้น เห็นว่าในคดีอาญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่ความด้วย ทั้งในคดีอาญาดังกล่าวมิได้มีประเด็นให้วินิจฉัยโดยตรงว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2373เป็นมรดกของนายม้วนหรือไม่ ในคดีนี้จึงไม่ผูกพันให้ต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคดีอาญาดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ในข้อนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 เป็นมรดกของนายม้วน จำเลยที่ 1ได้รับโอนมาในฐานะเป็นมรดกโดยที่ยังไม่ได้มีการแบ่งให้แก่ทายาทคนอื่น และต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายม้วน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 ซึ่งเป็นมรดกของนายม้วนไว้แทนโจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นทายาทด้วย อีกทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองไปยังทายาทอื่นว่า จำเลยที่ 1ไม่เจตนาจะครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 แทนทายาทอื่นอีกต่อไปเมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองโฉนดเลขที่ 2373 แทนทายาทคนอื่นด้วยดังกล่าวแล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะครอบครองนานเพียงใดจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในการประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องเรียกมรดกและฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หรือไม่ ในข้อนี้โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นทายาทนายม้วน ฟ้องขอแบ่งมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกันดังนี้ แม้โจทก์ทั้งหกจะฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อโจทก์ทั้งหกรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีของโจทก์ทั้งหกก็ไม่ขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1และที่ 2 นั้น มิใช่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนเนื่องเพราะการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240หากแต่เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคืนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ฟ้องโจทก์ทั้งหกจึงไม่ขาดอายุความที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งหกและจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน