แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์อ้างว่าในขณะที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามยอมนั้น โจทก์ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วยเพราะในช่วงนั้นโจทก์ไม่ได้อยู่ที่ศาล จำเลยทั้งสามร่วมกันนำบุคคลอื่นไปแสดงตัวเป็นโจทก์ต่อศาลและนำความเท็จแถลงต่อศาล เป็นเหตุให้ศาลหลงเชื่อและพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้ หากเป็นจริงต้องถือว่ากระบวนพิจารณาที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่ชอบ จึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลผูกพันโจทก์ อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตามมาตราดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะยกขึ้นว่ากล่าวกันในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการผิดระเบียบนั้น โจทก์จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหากหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ กับให้เรียกจำเลยในสำนวนหลังซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในสำนวนแรกที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะโจทก์ทิ้งฟ้องว่าจำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องเป็นใจความว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอเพิกถอนนิติกรรมเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2025/2537 ของศาลชั้นต้นโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นทนายความของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นทนายความของโจทก์ ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2538 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 7/2538 จากนั้นจำเลยที่ 1 ดำเนินการบังคับคดีแก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้รู้เห็นในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสามร่วมกันนำบุคคลอื่นไปแอบอ้างเป็นโจทก์และปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความและในรายงานกระบวนพิจารณา นอกจากนี้ยังมีลายมือชื่อปลอมของโจทก์ในเอกสารต่าง ๆ อีกหลายฉบับ คือหนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรสและหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน รายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2537 ซึ่งเป็นวันชี้สองสถาน สัญญาประนีประนอมยอมความ รายงานกระบวนพิจารณาและคำแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2538 ขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรส หนังสือสัญญาเช่าที่ดิน รายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2537 สัญญาประนีประนอมยอมความพร้อมคำพิพากษาตามยอมรายงานกระบวนพิจารณาและคำแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลฉบับลงวันที่ 13 มกราคม2538 คำบังคับและหมายบังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7/2538 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลด้วยตนเอง ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชอบลายมือชื่อในเอกสารฉบับพิพาททุกฉบับเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2537 ด้วยตนเอง ส่วนการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในวันที่ 13 มกราคม 2538 โจทก์ดำเนินการเองโดยไม่ปรึกษาจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทนายความ จำเลยที่ 3 ไม่ได้อยู่ด้วยและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ความว่า เดิมโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนนิติกรรมและเรียกทรัพย์คืนโดยโจทก์ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นทนายความของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นทนายความของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2538 ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันมีใจความว่า โจทก์ตกลงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ต่อไป โดยโจทก์ได้ให้สัตยาบันถึงการทำนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1056 ตำบลนาดี อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ซึ่งถือว่าการทำนิติกรรมดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ โจทก์จะไม่ขอเพิกถอนหรืออ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไป โจทก์และสามีโจทก์ตกลงขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญาฉบับนี้ หากผิดนัดยอมให้จำเลยที่ 1 บังคับคดีได้ทันที และยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เดือนละ 2,000 บาท จนกว่าจะขนย้ายออกจากที่ดินเป็นที่เรียบร้อย จำเลยที่ 1 ตกลงให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1(ที่ถูกน่าจะเป็นโจทก์) ได้รับไว้ครบถ้วนแล้วแต่ในเวลาทำสัญญาฉบับนี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจเรียกร้องเอาแก่กันมากไปกว่านี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7/2538 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความดังนี้ ข้อที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในฎีกาซึ่งสรุปใจความสำคัญได้ว่า ในขณะที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามนั้น โจทก์ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วยเพราะในช่วงเวลาบ่ายของวันนั้นโจทก์ไม่ได้อยู่ที่ศาล จำเลยทั้งสามร่วมกันนำบุคคลอื่นไปแสดงตัวเป็นโจทก์ต่อศาลและนำความเท็จแถลงต่อศาล เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อและพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้ ซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความยุติธรรมนั้น เห็นว่า หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้าง กระบวนพิจารณาที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่ได้ร่วมทำหรือรู้เห็นยินยอมในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปตามนั้นด้วยแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลผูกพันโจทก์อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นในคดีที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตามบทบัญญัติกฎหมายมาตรา 27 ดังกล่าว ดังนี้ โจทก์จึงจะชอบที่จะยกขึ้นว่ากล่าวกันในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น โจทก์จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหากเป็นคดีนี้หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน