คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารท้ายฟ้องฉบับแรกมีข้อความว่า “โปรดมอบเงินจำนวน15,000 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาท) ให้กับนาย นเรศแซ่ทวยผู้ถือบัตรนี้มาด้วยครับ” และอีกฉบับหนึ่งมีข้อความว่า “ได้รับเงินจากพี่ เล็ก 15,000 บาท” ดังนี้ ข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับไม่อาจแปลได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์ จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653วรรคหนึ่ง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินจำนวน 15,000 บาท จากโจทก์โดยมอบหมายให้นายนเรศ แซ่ทวย มารับเงินไปครบถ้วนแล้ว ปรากฏตามสำเนาหลักฐานการยืมและรับเงินเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน
จำเลยให้การว่า ไม่เคยกู้เงินและรับเงินจากโจทก์ เอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินหรือไม่นั้น เห็นว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 มีข้อความว่า “โปรดมอบเงินจำนวน 15,000 บาท(หนึ่งหมื่นห้าพันบาท) ให้กับนายนเรศ แซ่ทวย ผู้ถือบัตรนี้มาด้วยครับ” ส่วนเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มีข้อความว่า “ได้รับเงินจากพี่เล็ก 15,000 บาท” แม้หากจำเลยจะเป็นผู้ลงชื่อในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวก็ตาม ข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับก็ไม่อาจแปล ได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์แต่ประการใด ในทางตรงกันข้ามเมื่อพิจารณาเอกสารดังกล่าวประกอบกันแล้ว จะเห็นได้ว่า เอกสารทั้งสองฉบับมีลักษณะทำนองว่าผู้เขียนทวงหนี้จนได้รับชำระหนี้ ดังนั้นเอกสารทั้งสองฉบับจึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง โจทก์จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share