แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมานายอำเภอท้องที่ ได้ประกาศหวงห้ามที่พิพาทไว้เพื่อให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ และอาบน้ำร้อน ซึ่งที่พิพาทมิใช่นายอำเภอท้องที่ประกาศหวงห้ามแล้วไม่มีประชาชนใช้ประโยชน์อะไรเลย กลับปรากฏว่าเป็นที่ที่ประชาชนใช้พักผ่อนหย่อนใจ ใช้อาบน้ำร้อน ทั้งมีท่อซีเมนต์ฝังลงในดิน เป็นบ่อมีศาลาสำหรับพักร้อนตั้งแต่นั้นมา ดังนั้นที่พิพาทจึงเป็นที่ รกร้างว่างเปล่ามีสภาพเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อ สาธารณประโยชน์และเป็นที่ดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นที่ สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(1)(2) การที่นายอำเภอท้องที่ประกาศหวงห้ามที่พิพาทไว้จะดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามบทบัญญัติพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นที่สาธารณสมบัติของ แผ่นดินพ.ศ. 2478 โดยชอบหรือไม่ หาเป็นข้อสาระสำคัญแต่ประการใด ในเมื่อที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว และแม้ต่อมาจะมีผู้ครอบครองที่พิพาทจนกระทั่งทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ และโจทก์ได้รับสิทธิครอบครองมาโดยการซื้อจากการขาย ทอดตลาดตามคำสั่งศาลก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมาย เฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 โจทก์จึงไม่อาจได้สิทธิครอบครองที่พิพาท รวมทั้งไม่อาจออกเอกสารสิทธิใด ๆ ในที่พิพาทได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทที่โจทก์ได้รับโอนมาจึงเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลย มี อำนาจที่จะออกคำสั่งเพิกถอนเสียได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงตามคำแถลงของโจทก์ และเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์มาเป็นข้อวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็น ที่พลเมืองใช้ร่วมกันหาเป็นการนอกฟ้องไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1008 อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยโจทก์ได้ซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ 560/2530 เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ดังกล่าวที่ออกทับที่สาธารณประโยชน์ “บ่อน้ำร้อน” ทั้งแปลงโดยขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี 2486 ซึ่งเป็นเพียงหลักฐานทางทะเบียนมิได้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 จึงไม่มีผลให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ จำเลยไม่มีอำนาจเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ดังกล่าว ขอให้เพิกถอนคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ 560/2530
จำเลยให้การว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์”บ่อน้ำร้อน” และทางราชการได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ไว้แล้ว แต่นางมยุรีซึ่งได้รับโอนสิทธิครอบครองจากนายด้วนและนางห้วนได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยปกปิดความจริงในเรื่องความเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เสีย จำเลยจึงมีคำสั่งที่ 560/2530ให้เพิกถอนคำสั่งรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวซึ่งออกทับที่สาธารณประโยชน์ และที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเพื่อจัดให้ประชาชนได้พักผ่อนอาบน้ำร้อนไม่จำต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 คำสั่งของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน โจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งนายอำเภอท้องที่ประกาศหวงห้ามเพื่อสงวนไว้สำหรับประชาชนพักผ่อนและอาบน้ำร้อน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานคู่ความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงยุติตามคำให้การของจำเลยและคำแถลงของโจทก์ว่า เดิมที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งนายอำเภอท้องที่ได้ประกาศหวงห้ามไว้เพื่อให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจและอาบน้ำร้อน เมื่อปี 2486 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4ต่อมาปี 2490 นายด้วนและนางห้วนได้เข้าครอบครองที่พิพาทและนางมยุรีได้ครอบครองต่อมา จนกระทั่งทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โจทก์ได้รับโอนที่พิพาทโดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลต่อมาจำเลยมีคำสั่งที่ 560/2530 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เกี่ยวกับที่พิพาทโดยอ้างว่าออกทับที่สาธารณประโยชน์ปัญหาวินิจฉัยมีว่า คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ เอกสารท้ายหมายเลข 4 ของโจทก์และคำแถลงรับของโจทก์ ปรากฏว่าเดิมที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าครั้นปี 2486 ประชาชนได้ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ใช้สำหรับอาบน้ำมีท่อซีเมนต์ฝังลงในที่ดินเป็นบ่อมีศาลาปลูกชั่วคราวสำหรับพักผ่อนประชาชนยังคงใช้ประโยชน์พักผ่อนและอาบน้ำร้อนอยู่ ดังนี้ จะเห็นได้ว่าที่พิพาทมิใช่นายอำเภอท้องที่ประกาศหวงห้ามแล้ว ไม่มีประชาชนใช้ประโยชน์อะไรเลย แต่กลับปรากฏว่าเป็นที่ที่ประชาชนใช้พักผ่อนหย่อนใจใช้อาบน้ำร้อนทั้งมีท่อซีเมนต์ฝังลงในดินเป็นบ่อ มีศาลาสำหรับพักผ่อนตั้งแต่นั้นมา ดังนั้นที่พิพาทจึงเป็นที่รกร้างว่างเปล่า มีสภาพเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์และเป็นที่ดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(1) (2) ดังนั้นแม้นายอำเภอท้องที่จะประกาศหวงห้ามที่พิพาทไว้เพื่อประชาชนพักผ่อนหย่อนใจและอาบน้ำร้อน เมื่อปี 2486 จะดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามบทบัญญัติพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478ชอบหรือไม่ ไม่เป็นข้อสาระสำคัญประการใด เมื่อที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้ต่อมาจะมีผู้ครอบครองจนกระทั่งทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้นางมยุรี ชูจิตร และโจทก์ได้รับสิทธิครอบครองมาโดยการซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลก็ตามแต่โจทก์ก็มิได้อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 โจทก์ไม่อาจได้สิทธิครอบครองที่พิพาท รวมทั้งไม่อาจออกเอกสารสิทธิใด ๆในที่พิพาทได้ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทที่โจทก์ได้รับโอนมาจึงเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยมีอำนาจที่จะออกคำสั่งเพิกถอนเสียได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ที่แก้ไขแล้ว คำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นที่พลเมืองใช้ร่วมกันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกฟ้อง ไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์แถลงรับว่าเดิมที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งนายอำเภอท้องที่ประกาศหวงห้ามไว้เพื่อประชาชนใช้พักผ่อนหย่อนใจและอาบน้ำร้อนและตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ของโจทก์ ปรากฏว่านายอำเภอจัดให้มีท่อซีเมนต์ฝังลงในดินเป็นบ่อ มีการปลูกศาลาสำหรับพักและสาธารณชนยังใช้อยู่เอกสารหมาย 4 ท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องโจทก์ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงตามคำแถลงของโจทก์และเอกสารดังกล่าวของโจทก์มาเป็นข้อวินิจฉัยนั้น หาเป็นการนอกฟ้องไม่
พิพากษายืน.