แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เรือนพิพาทจะเป็นของโจทก์หรือไม่ก็ตาม แต่บุตรเขยโจทก์ยินยอมให้รื้อเรือนนี้ และบุตรเขยโจทก์ก็ได้มาอยู่จัดการรื้อเรือนด้วย จำเลยจึงรื้อ แสดงว่าจำเลยคิดว่าเรือนเป็นของบุตรเขยโจทก์ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362 เพราะขาดเจตนาตามมาตรา 59 วรรค 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่บ้านของโจทก์และรื้อเรือนโจทก์ลงมากองไว้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๓๖๒, ๘๓
ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๓, ๔, ๕
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่าเรือนพิพาทน่าจะเป็นของโจทก์ มิใช่ของจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นบุตรเขยโจทก์ดังที่จำเลยนำสืบ จำเลยย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นเรือนของโจทก์ปลูกขวางถนนพัฒนาการ ควรจะบอกให้โจทก์รื้อ แต่จำเลยกลับรื้อเรือนโจทก์เอง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๓๖๒ แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๕๘ ซึ่งเป็นบทหนัก
โจทก์อุทธรณ์ไม่ให้รอการลงโทษจำเลยและลงโทษให้หนัก
จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ควรมีความผิด
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จะฟังว่าเรือนพิพาทเป็นของโจทก์ และจำเลยกับพวกรื้อเรือนนี้ดังที่ศาลชั้นต้นฟัง และมีเหตุฟังได้ว่าจำเลยเชื่อว่าเรือนที่รื้อเป็นของจำเลยที่ ๕ การกระทำของจำเลยต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรค ๓ ไม่เป็นความผิด เพราะไม่มีเจตนาพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหามีว่า ขณะรื้อเรือนนั้นโจทก์นำสืบได้หรือไม่ว่าจำเลยรู้ว่าเรือนเป็นของโจทก์ เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานเช่นว่านี้ ส่วนจำเลยมีเอกสาร คือ หนังสือที่จำเลยที่ ๕ ทำให้เจ้าพนักงานไว้ว่าจำเลยที่ ๕ จะรื้อเรือนพิพาทที่ปลูกขวางถนนที่จะตัดผ่านให้ และจำเลยที่ ๕ ก็ได้มาอยู่จัดการรื้อเรือนด้วย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑, ๒ (เป็นผู้ใหญ่บ้าน) เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตคิดว่าเรือนนี้เป็นของจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นบุตรเขยโจทก์ ไม่มีความผิด
พิพากษายืน