แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 9 บัญญัติให้ผู้มีอาวุธปืน โดยไม่ได้รับอนุญาต นำปืนไปขอรับอนุญาตภายใน 90 วันโดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ดังนี้ จึงต้องถือว่า ในระหว่างนั้นกฎหมายยกเว้นโทษแก่ผู้มีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในระหว่างใช้พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ย่อมยกฟ้องได้ และแม้จะอ่านคำพิพากษาศาล อุทธรณ์ภายหลังระยะเวลา 90 วัน ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็หาทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสียไปไม่ (อ้างฎีกาที่ 766/2490) (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2503)
จำเลยที่ต้องโทษไม่ได้อุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ออกใหม่บัญญัติว่า การกระทำของจำเลยไม่ต้องรับโทษ นับว่าเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ รับสารภาพจำเลยที่ ๒ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามฟ้อง ให้จำคุกตามฟ้อง ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ สี่เดือน ปรับ ๒๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ แปดเดือน ปรับ ๔,๐๐๐ บาท ริบของกลาง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยทั้งสอง และคืนของกลางให้จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๙ ยอมให้ผู้มีอาวุธปืน โดยไม่ได้รับอนุญาต นำปืนไปขอรับอนุญาตภายใน ๙๐ วันโดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ดังนี้ จึงต้องถือว่า ในระหว่างนั้นกฎหมายยกเว้นโทษแก่ผู้มีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในระหว่างใช้พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ย่อมยกฟ้องได้ และแม้จะอ่านคำพิพากษาศาล อุทธรณ์ภายหลังระยะเวลา ๙๐ วัน ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็หาทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสียไปไม่ ในชั้นฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาแต่เพียงว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาถูกต้องด้วยตัวบทกฎหมาย ที่มีอยู่ในเวลาพิพากษาหรือไม่ ถ้าถูกแล้ว ศาลฎีกาก็ไม่มีอะไรจะแก้ไข ส่วนจำเลยที่ ๑ ไม่ได้อุทธรณ์ขึ้นมา แต่พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๙ ยกเว้นให้การกระทำของจำเลยทั้งสอง นับว่าเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้อุทธรณ์ ให้มิต้องถูกรับโทษหรือได้ ลดโทษดุจจำเลยผู้อุทธรณ์
พิพากษายืน