คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 865-875/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้รับหมายเรียกและทราบกำหนดนัดพิจารณาของศาลแล้วแต่ไม่แต่งทนายความเข้ามาดำเนินคดีเพราะขณะนั้นจำเลยมีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนไม่ครบ ต่อมาจำเลยได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการให้ ส. คนเดียวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนจำเลยได้ ซึ่งหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยแล้วยังอยู่ในระหว่างนัดสืบพยานโจทก์ เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการแจ้งข้อขัดข้องให้ศาลทราบ ย่อมถือว่าจำเลยจงใจขาดนัดพิจารณา ไม่มีเหตุที่จะขอพิจารณาใหม่.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนฟ้องเรียกค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายจากจำเลย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว แล้วมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4กันยายน 2529 โดยพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งหมดตามฟ้อง ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2529 จำเลยได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 30 ตุลาคม 2529 ขอให้พิจารณาใหม่ โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของศาลได้ส่งคำบังคับให้แก่จำเลยโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2529 ในชั้นแรกจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องของโจทก์แล้ว ซึ่งขณะนั้นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำกิจการแทนบริษัทจำเลยได้คือนายสมชาย ชัยศรีชวาลา และนายอำพล ตันทโอภาสโดยกรรมการทั้งสองคนต้องลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท แต่นายอำพล ตันทโอภาสไม่มาทำงานและตามตัวไม่พบ จำเลยจึงไม่สามารถดำเนินการตั้งตัวแทนหรือทนายความเข้าต่อสู้คดีแทนจำเลยได้ขณะนี้จำเลยได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการใหม่แล้ว จำเลยมิได้เจตนาจงใจขาดนัด และคดีของจำเลยมีทางชนะได้ ขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้พิจารณาใหม่
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า ศาลสั่งให้จำเลยขาดนัดตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2529 และในการสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวก็แจ้งให้จำเลยทราบนัดมาโดยตลอด แต่จำเลยก็ไม่มาศาลหรือแจ้งเหตุขัดข้องใด ๆ ให้ศาลทราบ จำเลยเพิ่งมายกเหตุขัดข้องขึ้นตามคำร้องฉบับนี้ซึ่งล่วงเลยมาเป็นเวลานานและเกินเวลา 7 วัน นับแต่ศาลแรงงานกลางสั่งว่าจำเลยขาดนัดแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ตามมาตรา 40แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…แม้ในขณะที่จำเลยได้รับหมายเรียกและทราบกำหนดวันนัดพิจารณาของศาลแรงงานกลางนั้น จำเลยจะมีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำกิจการแทนไม่ครบ อันเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถที่จะตั้งทนายความเข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลยได้ตามคำร้องของจำเลยก็ดี แต่หลังจากนั้นจำเลยก็ได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการโดยนายสมชาย ชัยศรีชวาลา คนเดียวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำกิจการแทนบริษัทจำเลยได้ ปรากฎตามสำเนาหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2 ที่นายทะเบียนออกให้จำเลยเมื่อวันที่ 13สิงหาคม 2529 ซึ่งในช่วงเวลาเช่นว่านี้เป็นต้นไปจำเลยสามารถที่จะแต่งตั้งทนายความเข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลยได้ เพราะคดีอยู่ในระหว่างนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์ดังกล่าวมาแล้ว แต่จำเลยก็หาได้ดำเนินการแจ้งเหตุขัดข้องตามที่กล่าวอ้างมาในคำร้องให้ศาลแรงงานกลางทราบไม่ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยจงใจขาดนัด ไม่มีเหตุที่จะขอให้พิจารณาใหม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนฟังไม่ขึ้น”.

Share